ผ่าต้อกระจก รักษาการมองเห็นที่พร่ามัว ต้องเตรียมตัวอย่างไร

โรคตาในตระกูลต้อที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการมองเห็นอย่างต้อกระจก แม้ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาหยอดหรือยารับประทาน แต่สามารถรักษา เปลี่ยนการมองเห็นที่ขุ่นมัวได้ด้วยการผ่าต้อกระจก แล้วสามารถผ่าต้อกระจกด้วยวิธีใดบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

สารบัญบทความ

    ทำความรู้จักต้อกระจก

    การผ่าตาต้อกระจก คืออะไร
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.aao.org

    ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับโรคต้อกระจกหรือโรคตาที่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นของเรา ซึ่งเป็นโรคที่ทุกคนต้องเจอ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป พบว่าเป็นโรคต้อกระจก 25 % ส่วนอายุ 70 ปีขึ้นไป พบมากกว่า 50 % และอายุ 80 ปีขึ้นไป พบ 90 % สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าต้อกระจก 

    สาเหตุ 

    แม้ว่าสาเหตุหลักของการเกิดต้อกระจก คือ ความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ดวงตา และอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคต้อกระจกได้

    ปัจจัยกระตุ้น 

    นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้น อาจมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การเผชิญกับรังสียูวีเป็นระยะเวลานาน ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือการมีโรคประจำตัว ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นด้วยเช่นกัน

    อาการ

    มีลักษณะขุ่นมัวที่เลนส์แก้วตา ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเลนส์ตาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัวจนอาจไม่รู้ตัว, การมองเห็นในที่แสงน้อยแย่ลง และสายตาสั้นมากขึ้น อีกทั้งในบางรายที่เคยมีปัญหาสายตายาวตามอายุ กลับสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตา (myopic shift)

    อันตรายจากโรค 

    โรคต้อกระจก นับว่าเป็นภัยอันตรายต่อการมองเห็น เพราะเลนส์ตามีความขุ่นมัว ทำให้การมองเห็นไม่ชัด ซึ่งเป็นอุปสรรค และเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ด้วยการผ่าต้อกระจก โดยวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรง และปัจจัยของแต่ละคน

    วิธีการผ่าต้อกระจก

    การผ่าต้อกระจก สามารถทำได้หลัก ๆ 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การผ่าต้อกระจกด้วยวิธีสลายต้อ และการผ่าต้อกระจกด้วยวิธีเปิดแผลกว้าง โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่า การผ่าตัดแบบใดเหมาะกับอาการของคนไข้มากกว่ากัน

    วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

    ในกรณีผู้ป่วยมีต้อกระจกที่สุก และแข็งมากจนไม่สามารถผ่าตัดด้วยเครื่องสลายต้อได้ สามารถผ่าต้อกระจกด้วยวิธีเปิดแผลกว้าง โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร และนำเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออก จากนั้นจึงนำเลนส์ตาเทียมเข้าแทนที่ และเย็บปิดแผล ดังนั้น ผู้ที่เป็นต้อกระจก ไม่ควรปล่อยให้อาการรุนแรง เพราะหากเป็นมากแล้ว จะต้องรับการผ่าตัดด้วยการเปิดแผลใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า

    วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens)

    วิธีการสลายต้อเป็นวิธีผ่าต้อกระจกที่ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน แผลสามารถสมานได้เอง ไม่ต้องเย็บแผล โดยแพทย์จะเปิดแผลเล็กบริเวณขอบตาดำ และสอดเครื่องมือเข้าไป จากนั้นจึงปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ เพื่อสลายต้อให้กลายเป็นชิ้นส่วนเล็ก และดูดนำเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นออกก่อนที่จะใส่เลนส์ตาเทียมเข้าแทนที่

    การผ่าต้อกระจก กับ เลนส์แก้วตาเทียมแต่ละชนิด

    การผ่าต้อกระจกร่วมกับการใช้เลนส์แก้วตาเทียม คือ การนำเอาเลนส์ตาธรรมชาติที่เสื่อมสภาพหรือมีความขุ่นมัวออก และนำเอาเลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยในกรณีที่ผู้เข้ารับการผ่าต้อกระจก มีปัญหาสายตามากไม่ว่าจะสายตาสั้น ยาว หรือเอียง สามารถเลือกชนิดเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาสายตาไปพร้อมกับการรักษาต้อกระจก โดยหลังการผ่าตัดจะไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาอีกต่อไป

    ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมมีด้วยกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น

    • เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว Monofocal IOLs – ช่วยในการมองเห็นระยะไกล
    • เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ Multifocal IOLs – ช่วยให้มองเห็นภาพชัดได้หลายระยะ ไม่ว่าจะใกล้ กลาง หรือไกล และช่วยแก้ปัญหาสายตายาวตามอายุ ทำให้หลังผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นอ่านหนังสืออีก
    • เลนส์แก้วตาเทียมชนิด Extended Depth of Focus (EDOF) IOL – แก้ไขการมองเห็นระยะกลาง และไกล
    • เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้เอียง TORIC IOL – แก้ปัญหาสายตาเอียง จากปัญหาความโค้งของกระจกตา            

    การผ่าต้อกระจก จำเป็นกับใคร

    ใครควรรับการผ่าต้อกระจก

    ผ่าต้อกระจก จำเป็นกับใคร ? หากมีอาการต้อกระจกมีความรุนแรงหรือเริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และการดำเนินชีวิต ควรเข้ารับการผ่าต้อกระจก เพราะการมองเห็นไม่ชัดจากความขุ่นมัวของเลนส์ตา สามารถส่งผลอันตรายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขับรถ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจตา ประเมินอาการความรุนแรง และรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

    ใครที่ห้ามผ่าต้อกระจก 

    การผ่าต้อกระจก อาจไม่ใช่วิธีรักษาที่เหมาะสมกับทุกคน เนื่องจากผู้ป่วยบางราย อาจมีปัญหาหรือโรคตาอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ในทันทีหรือการผ่าต้อกระจก อาจไม่ได้ช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้นตามที่หวังไว้

    • จอประสาทตาลอก
    • จุดรับภาพเสื่อมขั้นรุนแรง
    • มีภาวะตาติดเชื้อ ควรรักษาให้หายจากการติดเชื้อก่อน แล้วจึงเข้ารับการผ่าตาต้อกระจก
    • เป็นโรคต้อหิน เนื่องจากการผ่าต้อกระจกอาจทำให้ความดันในดวงตาสูงขึ้น 

    อย่างไรก็ตาม ควรเข้าพบจักษุแพทย์ และทำการตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อที่แพทย์จะสามารถประเมิน พิจารณาแนวทางการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด 

    การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกที่ต้องรู้

    การเตรียมตัวผ่าต้อกระจก เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้การผ่าตัดรับการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

    • งดการใช้ยาที่มีคุณสมบัติต้านการแข็งต้วของเลือด
    • สระผม ล้างหน้าก่อนเข้ารับการผ่าตัด
    • งดการแต่งหน้า ทาเล็บในวันเข้ารับการผ่าตัด
    • สวมเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ และถอดออกได้ง่าย
    • ควรมีผู้ติดตามมาคอยดูแลหลังการผ่าตัด
    • แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ หากในวันเข้ารับการผ่าต้อกระจก มีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ

    ขั้นตอนผ่าต้อกระจก

    วิธีผ่าต้อกระจก
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.lceyes.com

    ขั้นตอนการผ่าต้อกระจกมีดังต่อไปนี้ 

    การใช้ยาระงับความรู้สึก

    ก่อนเริ่มขั้นตอนการผ่าต้อกระจก แพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึก เพื่อไม่ให้ผู้เข้ารับการรักษาเกิดความเจ็บปวดขณะผ่าต้อกระจก โดยยาระงับความรู้สึกมีทั้งแบบหยอดที่ใช้สำหรับการผ่าตัดสลายต้อกระจก และแบบฉีดในบางจุดสำหรับการผ่าตัดนำเลนส์ตาออก การผ่าต้อกระจก จึงเป็นการผ่าตัดที่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเลยแม้แต่น้อย

    ขั้นตอนการผ่าตัด

    ขั้นตอนการรักษาผ่าต้อกระจก ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 10 – 15 นาที โดยเริ่มจากการสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ แล้วนำเลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แต่ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมากจนไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่องสลายต้อจะต้องผ่าตัด โดยการเปิดแผลนำเอาเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพออก และเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทน จากนั้นจึงเย็บปิดแผล ซึ่งวิธีนี้แผลที่เปิดจะมีขนาดกว้างกว่าแผลที่เกิดจากวิธีการผ่าตัดสลายต้อกระจก

    ข้อปฏิบัติในการดูแลหลังผ่าต้อกระจก

    อีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนการผ่าต้อกระจก และการเตรียมตัว นั่นก็คือ การดูแลหลังผ่าต้อกระจก โดยหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการรักษา ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ และจะต้องดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดตามข้อปฏิบัติหลังผ่าต้อกระจกที่แพทย์แนะนำ ได้แก่

    • สวมที่ครอบตาตามคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
    • ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นระยะเวลา 1 เดือน
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบกระเทือนกับแผล เช่น การเล่นกีฬา การยกของหนัก การไอ จามแรง ๆ
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา และรอบบริเวณดวงตาด้วยมือที่สกปรก
    • ทำความสะอาดใบหน้าด้วยสำลีชุบน้ำเกลือ
    • เข้ารับการตรวจตาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

    อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังผ่าต้อกระจก

    อาการข้างเคียงหลังผ่าต้อกระจก

    หลังการผ่าตัด อาจเกิดอาการข้างเคียงหลังผ่าต้อกระจก เช่น อาการระคายเคือง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่น ๆ หากผู้เข้ารับการรักษาละเลยการดูแลหลังการผ่าต้อกระจก เช่น เผลอขยี้ตา ปล่อยให้แผลโดนน้ำหรือปะทะกับฝุ่นละออง พฤติกรรมเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้ 

    นอกจากการติดเชื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว อาการอักเสบหลังผ่าตัดอาจมาพร้อมกับอาการจุดรับภาพบวม แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป อาการจุดรับภาพบวมหลังผ่าต้อกระจกสามารถรักษาให้หายได้

    FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคผ่าต้อกระจก

    inZ Hospital รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตาต้อกระจกมาให้ทุกคนแล้ว

    หลังผ่าต้อกระจกต้องนอนโรงพยาบาลไหม

    การผ่าต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นาน และหลังผ่าตัด คนไข้สามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 

    ทำไมผ่าต้อกระจกแล้วมองไม่เห็น มองเห็นไม่ชัด

    ทำไมหลังผ่าต้อกระจก ตามัว มองไม่เห็น ? ผู้เข้ารับการผ่าตัดบางรายอาจพบว่า มองเห็นไม่ชัดหลังการผ่าต้อกระจก ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นเพียงอาการมองเห็นไม่ชัดทั่วไปที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดหรืออาจเกิดจากภาวะเซลล์ในถุงหุ้มเลนส์ขุ่น รวมถึงอาจเกิดจากโรคตาอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ได้ ทางที่ดีควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง 

    หลังผ่าต้อกระจกพักฟื้นนานไหม 

    หลังการผ่าต้อกระจก พักฟื้นนานไหม ?  พักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถดูแลตนเอง งดการใช้สายตาในช่วงแรกหลังการผ่าตัด สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทั้งนี้ผู้เข้ารับการรักษาต้องดูแลตนเอง และปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง ไม่ว่าจะเป็นการหยอดยา การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนแผล หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เป็นต้น

    มีวิธีการรักษาด้วยวิธีอื่นนอกจากผ่าต้อกระจกไหม

    แนวทางการรักษาโรคต้อกระจกมีทั้งวิธีที่ต้องเข้ารับการผ่าต้อกระจกและไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงและการวินิจฉัยของแพทย์ โดยผู้เป็นโรคต้อกระจกในระยะเริ่มต้น สามารถสวมแว่นตา เพื่อแก้ปัญหามองเห็นไม่ชัดได้ในเบื้องต้น

    หลังผ่าต้อกระจกโดนน้ำได้ไหม

    สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากหลังผ่าต้อกระจก คือ การห้ามไม่ให้น้ำหรือเหงื่อเข้าดวงตาเด็ดขาดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ดวงตาเกิดการติดเชื้อได้ หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อน้ำเข้าตา เช่น สระผมด้วยตนเอง ว่ายน้ำ 

    ข้อสรุปการผ่าต้อกระจก

    การผ่าต้อกระจก คือ วิธีการรักษาต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคตาที่ทำให้การมองเห็นขุ่นมัว สามารถแบ่งวิธีการผ่าตัดออกได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ วิธีผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก และวิธีการเปิดแผลกว้าง โดยแพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อเลือกใช้วิธีผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการรักษามากที่สุด รวมถึงควรหาข้อมูลด้านอื่น ๆ เช่น ผ่าต้อกระจก ราคาเท่าไหร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการรักษา

    เอกสารอ้างอิง 

    Kierstan Boyd. (2023 November, 15). Cataracts Surgery: Risks, Recovery, Costs. AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
    https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-cataract-surgery 

    Matt McMillen. (2024 April, 18). What to Expect From Cataract Surgery. WebMD. https://www.webmd.com/eye-health/cataracts/what-to-expect-from-cataract-surgery