เลสิก (LASIK) วิธีแก้ปัญหาสายตาให้กลับมามองโลกอย่างสดใสได้อีกครั้ง

           การทำเลสิก (LASIK) เป็นทางออกสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาสายตาสั้น ยาวหรือเอียง ซึ่งการทำเลสิกจะช่วยให้เราสามารถมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ชัดมากยิ่งขึ้น มาทำความรู้จักเลสิกหรือวิธีรักษาปัญหาค่าสายตาที่จะช่วยลดการพึ่งพาแว่นตา และคอนแทคเลนส์ ไขข้อสงสัย เลสิก คืออะไร?  มีกี่แบบ? ทําเลสิกอายุเท่าไหร่? ในบทความนี้

สารบัญบทความ

    เลสิกคืออะไร?

    ทำเลสิก คืออะไร

               เลสิก (LASIK หรือ Laser In Situ Keratomileusis) คือ การผ่าตัดแก้ไขปัญหาภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง โดยใช้แสงเลเซอร์ที่เรียกว่า Excimer Laser เข้าไปปรับรูปร่างความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การมองเห็นของเรากลับมาชัดเหมือนเดิม

    ปัญหาค่าสายตาที่แก้ได้ด้วยการทำเลสิก 

               การทำ LASIK สามารถแก้ปัญหาสายตาได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะสายตาสั้น ยาว หรือเอียง สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ 

    สายตาสั้น

               ปัญหาสายตาสั้น (myopia) หรือภาวะที่การมองเห็นในระยะไกลไม่ชัด แต่สามารถมองในระยะใกล้ได้ชัดเจน การทำเลสิกเป็นวิธีแก้สายตาสั้น โดยใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาให้การมองเห็นกลับมาชัดเจน และไม่พร่ามัว 

    สายตายาว

               ปัญหาสายตายาว (Hyperopia) หรือภาวะที่การมองเห็นในระยะใกล้ไม่ชัด แต่สามารถมองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจน หรือในบางรายอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้ และไกล โดยเกิดจากลักษณะกระจกตาที่แบนเกินไป สามารถรักษาได้ด้วยการทำเลสิก ปรับความโค้งของกระจกตา 

    สายตายาวสูงอายุ

               ปัญหาสายตายาวสูงอายุ (Presbyopia) หรือภาวะที่การมองเห็นในระยะใกล้ไม่ชัด เกิดจากความเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อในลูกตา และเลนส์แก้วตาที่แข็งขึ้นในช่วงวัยสูงอายุ สามารถแก้ปัญหาสายตายาวสูงอายุ ด้วยการทำเลสิกสายตายาวที่เรียกว่า monovision ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา

     สายตาเอียง

               ปัญหาสายตาเอียง (Astigmatism) คือ ภาวะที่จุดโฟกัสการมองเห็นมีมากกว่า 1 ตำแหน่ง ทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อน การทำเลสิกสายตาเอียง จะช่วยปรับรูปร่างของกระจกตาให้การหักเหแสงตกกระทบได้เป็นปกติ  

    เลสิกมีกี่แบบ ? แตกต่างกันอย่างไร ?

    เลสิกตา มีแบบไหนบ้าง
    ทำเลสิค มีแบบไหนบ้าง

               นอกเหนือจากเลสิกแล้ว ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาสายตาได้อย่างถาวรเช่นเดียวกับเลสิก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใช้แสงเลเซอร์ ผ่าตัดเลนส์เสริม หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม แล้วแต่ละวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไร ? 

    PRK (Photorefractive Keratectomy)

               PRK (Photorefractive Keratectomy) หรือการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ โดยการลอกเยื่อหุ้มกระจกตาด้านนอก แล้วจึงใช้แสงเลเซอร์เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ต่างจากการทำ lasik ที่ว่าการทำ PRK ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา อีกทั้ง PRK ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่มีกระจกตาบางและภาวะตาแห้งอีกด้วย

    Microkeratome LASIK 

               Microkeratome LASIK หรือเลสิกแบบดั้งเดิม คือ วิธีรักษาค่าสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยการใช้ใบมีด Microkeratome ในการแยกชั้นกระจกตา แล้วจึงยิงเลเซอร์ Excimer Laser เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติให้กลับมาเห็นชัดเหมือนเดิม

    Femto LASIK

               Femto LASIK คือ การทำเลสิกแบบไร้ใบมีด สามารถรักษาปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวโดยกำเนิด ด้วยการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำในการแยกชั้นกระจกตาแทนการใช้ใบมีด จึงมีความแม่นยำสูง อีกทั้ง femto lasik ผลข้างเคียง เช่น ภาวะตาแห้งนั้น มีโอกาสเกิดน้อยหลังการผ่าตัด

    ReLEx

               เทคนิคการผ่าตัดไร้ใบมีดแผลเล็กหรือ ReLEx สามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นและสายตาเอียง โดยการใช้แสงเลเซอร์เปลี่ยนความโค้งของกระจกตา แยกชั้นกระจกตาและตัดนำกระจกตาส่วนเกินออกทางแผลขนาดเล็กที่เปิดไว้ เป็นวิธีที่มีการรบกวนกระจกตาน้อยที่สุด ทำให้หลังการทำ ReLEx จะมีอาการระคายเคืองตาน้อยตามด้วยเช่นกัน

    ICL (Implantable Collamer Lens)

               ICL (Implantable Collamer Lens) เป็นเลนส์เสริมที่ทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น นิ่ม ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคือง สามารถแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียงได้อย่างถาวรเช่นเดียวกับเลสิก ด้วยการนำเลนส์เสริมฝังเข้าไปในดวงตาบริเวณหลังม่านตา ทั้งนี้หากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงค่าสายตา สามารถถอดเลนส์เสริม ICL ออกได้  

    Toric Implantable Lenses

               เลนส์แก้วตาเทียมสำหรับแก้ไขภาวะสายตาเอียงโดยเฉพาะหรือ “Toric Implantable Lenses” ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียม Toric IOLs จะช่วยแก้ปัญหาสายตาที่มีจุดโฟกัสมากกว่า 1 จุด เกิดเป็นภาพซ้อนให้กลับมามองเห็นได้ตามปกติ โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตาอีกต่อไป

    ข้อดี และข้อจำกัดของการทำเลสิก

               อย่างที่เรารู้กันว่า ข้อดีของ เลสิก คือ การแก้ไขปัญหาสายตาพร่ามัว อย่างไรก็ตาม LASIK ก็มีข้อจำกัดในการทำเช่นกัน

    ข้อดีของการทำเลสิก

    • การทำเลสิก (LASIK) เป็นการแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติได้อย่างถาวร 
    • ระยะเวลาในการผ่าตัดทำเลสิกและพักฟื้นไม่นาน
    • หลังการผ่าตัดไม่ต้องสวมแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์อีกต่อไป
    • สามารถทำกิจกรรมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น กีฬาทางน้ำหรือกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่าง ๆ 

    ข้อจำกัดของการทำเลสิก

    • ผู้เข้ารับการรักษาบางรายอาจประสบปัญหาตาแห้งหลังการผ่าตัดในช่วงแรก สามารถใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการตาแห้งได้
    • หลังการผ่าตัดทำเลสิก (LASIK) บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อ แต่พบได้น้อยมาก
    • ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง
    • ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการผ่าตัดทำเลสิก เช่น การมีค่าสายตาที่สูงมาก หรือมีโรคทางตา

    เราเหมาะกับการทำเลสิกหรือไม่ ?

               อย่างที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า การทำเลสิก ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัย และปัญหาที่แตกต่างกัน มาลองเช็กกันดูว่า เราเหมาะกับการทำ LASIK หรือไม่

    ผู้ที่เหมาะกับการทำเลสิก

    • ผู้ที่มีค่าสายตาคงที่ไม่น้อยกว่า 1 ปี 
    • ผู้ที่มีกระจกตาหนาเพียงพอ
    • ผู้ที่ไม่มีโรคหรือภาวะความผิดปกติที่กระจกตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม 
    • ผู้ที่มีปัญหาค่าสายตา และไม่ต้องการพึ่งแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป

               ทั้งนี้ควรเข้ารับคำปรึกษากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมในการเข้ารับการรักษา

    ผู้ที่ไม่ควรทำเลสิก

    • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังเป็นช่วงอายุที่ค่าสายตายังไม่คงที่
    • ผู้ที่มีกระจกตาบางเกินไปหรือกระจกตาเคยมีประวัติการติดเชื้อ
    • ผู้ที่มีค่าสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงสูงมาก
    • ผู้ที่มีโรคทางตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เบาหวานขึ้นจอตาหรือมีกระจกตาปูด (keratoconus)
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ค่าสายตาไม่คงที่ ควรเลื่อนการทำเลสิกออกไป

               ทั้งนี้สามารถปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำทางเลือกแก้ไขค่าสายตาวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำเลสิกได้

    ข้อปฏิบัติเตรียมตัวก่อนทำเลสิก

    เตรียมตัวก่อนทำ lasik

               หลังเข้ารับการตรวจสุขภาพตา และได้รับการประเมินว่า สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเลสิก (LASIK) ได้ จะต้องเตรียมตัวก่อนมาทำเลสิก ดังนี้

    • งดการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอย่างน้อย 3 วัน ส่วนคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งอย่างน้อย 14 วัน
    • งดการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ก่อนเข้ารับการรักษา 1 – 2 วัน 
    • งดดื่มชาหรือกาแฟ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
    • หยุดการใช้ยารักษาสิว อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนการตรวจประเมินตาและวันเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การตรวจประเมินค่าสายตาได้ผลที่คลาดเคลื่อน 
    • หากมีการใช้ยาอื่น ๆ อยู่ ควรแจ้งจักษุแพทย์ให้ทราบ
    • ควรพาผู้ติดตามมาด้วย เพื่อคอยประกบดูแลหลังการตรวจสายตา เนื่องจากอาจมีการขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพไม่ชัด ตาไวต่อแสง 

    ขั้นตอนการผ่าตัดเลสิก

               การผ่าตัดทำเลสิก (LASIK) ใช้เวลาทั้งหมดเพียง 30 นาที โดยเริ่มจากการหยอดยาชาและยาฆ่าเชื้อ  หลังจากนั้นจักษุแพทย์จะแยกชั้นกระจกตา และใช้แสงเลเซอร์ Excimer Laser ยิงเข้าไปในกระจกตา หลังจากนั้นจะปิดชั้นกระจกตาตามเดิม โดยกระจกตาจะใช้เวลาเพียง 3 – 5 นาที ในการสมานเข้าที่

    ข้อปฏิบัติหลังทำเลสิก

               หลังเข้ารับการผ่าตัดทำเลสิกแล้วจะต้องสวมที่ครอบตาไว้ เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากหลังการทำ LASIK อาจเกิดความรู้สึกคล้ายมีเศษผงในดวงตาอยู่ตลอด และพยายามห้ามไม่ให้น้ำ เหงื่อหรือฝุ่นเข้าดวงตา โดยงดการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ เพื่อป้องกันโอกาสในการติดเชื้อ รวมถึงหยอดยาตามคำสั่งแพทย์และเข้าพบติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังทำเลสิก 

               หลังการผ่าตัดทำเลสิก (LASIK) สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แต่อาการเหล่านั้น มักเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไป อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปได้เอง เช่น อาการเคืองตาในช่วงแรกหลังการผ่าตัด อาการเห็นแสงกระจายในตอนกลางคืน และอาการตาแห้งที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 3 – 6 เดือนแรก 

    ข้อควรรู้ก่อนเลือกทำเลสิกที่ไหนดี

    ทำเลสิกที่ไหนดี

               หากกำลังเป็นกังวลว่า ทำเลสิก ที่ไหนดี? การทำเลสิก (LASIK) เป็นการผ่าตัดรักษาปัญหาค่าสายตา ด้วยการยิงเลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตา จึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และระมัดระวังในการทำอย่างมาก จะต้องเลือกเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐาน สะอาด เครื่องมือทันสมัย แพทย์มีความชำนาญ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด 

    คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำเลสิก 

               อ่านจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังมีข้อสงสัย เช่น สายตาสั้นเท่าไหร่เลสิกไม่ได้ ? และอื่น ๆ อีกมากมาย inZ Hospital ได้รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการทำเลสิกไว้ให้ด้านล่างนี้แล้ว 

    สายตาสั้นเท่าไหร่ ไม่ควรทำเลสิก

               โดยปกติแล้ว เกณฑ์ค่าสายตาที่คาดว่า จะสามารถทำเลสิกได้ คือ สายตาสั้นไม่เกิน 1,200  สายตายาว หรือเอียงไม่เกิน 600 และคนที่มีปัญหาค่าสายตาสั้นสูง มักพบว่า มีความเสี่ยงที่จะมีโรคต้อหิน และจอประสาทตาลอก จักษุแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจประเมินสภาพดวงตาก่อนทุกครั้งว่า สามารถทำเลสิกได้อย่างปลอดภัย

    อยากทําเลสิก ต้องอายุเท่าไหร่?

               ผู้ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดทำเลสิก (LASIK) จะต้องมีค่าสายตาคงที่แล้วอย่างน้อย 1 ปี จึงควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

    ทำเลสิกแล้ว สายตาจะกลับมาผิดปกติได้อีกครั้งไหม?

               แม้ว่า วิธีการผ่าตัดทำเลสิก (LASIK) จะได้ผลลัพธ์ที่ถาวร แต่หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาสายตา สามารถทำให้ค่าสายตากลับมาผิดปกติได้อีกครั้ง

    สามารถทำเลสิกซ้ำได้หรือไม่?

               ในกรณีทำเลสิกในครั้งแรกแล้ว ได้ผลที่คลาดเคลื่อน หรือค่าสายตาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมการใช้สายตา สามารถทำเลสิกซ้ำได้ ทั้งนี้ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนในเบื้องต้น

    สายตาสั้นข้างเดียว สามารถทำเลสิกได้หรือไม่?

               ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว สามารถทำเลสิกกับดวงตาข้างที่มีปัญหาเพียงข้างเดียวได้ ทั้งนี้ควรปรึกษากับแพทย์ เพื่อตรวจสายตาอย่างละเอียด

    เป็นเบาหวานทำเลสิกได้หรือไม่ ? 

               ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานสามารถเข้ารับการผ่าตัดทำเลสิกได้ ยกเว้นผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในขั้นที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้หรือมีภาวะเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินระยะความรุนแรงของเบาหวานและองค์ประกอบอื่น ๆ 

    กระจกตาบางสามารถทำเลสิกได้หรือไม่ ?

               กรณีที่มีกระจกตาบางมากหรือกระจกตามีความหนาไม่ถึง 500 ไมครอน จักษุแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แทน เช่น การทำ PRK หรือ ICL ซึ่งเป็นวิธีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบาง

    ข้อสรุปการทำเลสิก

               เลสิก (LASIK) คือ การใช้แสงเลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาวและเอียง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายมีปัจจัยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเลสิกได้ แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะที่ inZ Hospital มีวิธีทางเลือกอื่น ๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้อย่างถาวร เช่นเดียวกับการทำ lasik รวมถึงมีจักษุแพทย์เฉพาะทาง ที่พร้อมดูแลปัญหาดวงตาของคุณด้วยความใส่ใจในทุก ๆ ขั้นตอน

    เอกสารอ้างอิง

    LASIK Eye Surgery. (2022, November 09). WebMD.
    https://www.webmd.com/eye-health/lasik-laser-eye-surgery