‘ต้อลม’ ใครว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียว ต้อลมสามารถเกิดขึ้นได้ ถึงแม้เราจะยังมีอายุไม่มาก ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อลมนั้น เกิดขึ้นได้ง่ายมากกว่าที่เราคิด แม้ไม่เป็นอันตราย แต่ป้องกันไว้จะดีที่สุด มาเรียนรู้วิธีป้องกันการเกิดต้อลม เพื่อรักษาสุขภาพดวงตาที่สดใสและแข็งแรงให้อยู่กับเราไปนาน ๆ
ทำความรู้จักต้อลม
ต้อลม (Pinguecula) คือ โรคตาหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาว โดยมีลักษณะเป็นก้อนหรือรอยนูนสีเหลืองที่มักเกิดขึ้นบริเวณหัวตา และเป็นต้อชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น อย่างไรก็ตามหากไม่หลีกเลี่ยงสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดต้อลม สามารถทำให้ต้อลมพัฒนาไปเป็นต้อเนื้อได้
สาเหตุของการเกิดโรคต้อลม
ต้อลม (Pinguecula) เกิดขึ้นจากการที่ดวงตาของเราเผชิญกับแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง รวมถึงการเผชิญกับฝุ่น ลม ควันและมลภาวะในอากาศที่สร้างความระคายเคืองต่อดวงตา ซึ่งสาเหตุของต้อลมนั้นเป็นเหมือนกับสาเหตุการเกิดของต้อเนื้อ แต่ต่างกันตรงที่ต้อเนื้อจะมีความข้องเกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุตา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอาการตาแห้ง โดยส่วนใหญ่แล้วต้อลมมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องทำงานหรือใช้ชีวิตในสถานที่กลางแจ้ง รวมถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นสาเหตุของการเกิดต้อลมได้เช่นกัน
ลักษณะอาการต้อลม
ในระยะเบื้องต้นของอาการต้อลม (Pinguecula) สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่บริเวณตาขาว โดยจะปรากฏให้เห็นรอยนูนสีเหลืองที่เกิดจากการสะสมของโปรตีนและไขมัน ส่วนมากจะเกิดบริเวณช่วงหัวตา หากมีอาการอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการตาแดง ระคายเคือง แสบตา น้ำตาไหล ตาแห้ง รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตาตลอดเวลา อย่างไรก็ตามโรคต้อลมไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็นของเรา
การตรวจวินิจฉัยต้อลม
ต้อลม เป็นโรคตาที่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเปล่า โดยการวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติถึงสาเหตุของการเกิดต้อลมที่ตา และอาจใช้เครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กล้องจุลทรรศน์ slit-lamp ในการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด
ต้อลม รักษาได้อย่างไร
เมื่อเกิดต้อลมหรือรอยนูนสีเหลืองที่เยื่อบุตาขาวแล้ว แม้ต้อลมจะไม่จางหายไป แต่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามวิธีรักษาต้อลมนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค หากเกิดการอักเสบหรือรู้สึกถึงการมองเห็นที่เปลี่ยนไป สามารถเข้าพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
การรักษาด้วยตัวเอง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ต้อลมเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น หากเป็นต้อลมระยะแรกหรือระยะไม่รุนแรง วิธีรักษาต้อลมด้วยตนเองหรือวิธียับยั้งการพัฒนาความรุนแรง สามารถทำได้ด้วยการสวมแว่นกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือแว่นกันแดดเป็นประจำในเวลาที่ต้องออกที่แจ้ง
การรักษาจากจักษุแพทย์
หากเกิดการอักเสบหรืออาการพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ควรเข้ารับการรักษากับจักษุแพทย์ อาจมีการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการบวมแดงและอาการระคายเคืองตาและในกรณีที่ต้อลมส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคต้อลม
ต้อลมเป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่จางหายไป ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถป้องกันการเกิดต้อลมได้ดังนี้
- เมื่อต้องออกที่แจ้งที่มีแสงแดดแรง หมั่นสวมหมวกและแว่นกันแดดหรือแว่นที่กันรังสีอัลตราไวเลต (UV) เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสียูวีเอและรังสียูวีบี ตัวการของการเกิดโรคต้อลม
- หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีควัน ฝุ่น มลภาวะ
- รักษาสุขอนามัย ความสะอาดดวงตา หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการเกิดต้อลม ต้อเนื้อหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การถูขยี้ตา
- หยอดน้ำตาเทียม เมื่อมีอาการตาแห้ง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดวงตาและลดอาการระคายเคือง
FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคต้อลม
inZ Hospital มาตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับต้อลม ภัยเงียบโรคตาในยุค PM2.5
ต้อลมสามารถกลับมาเป็นอีกครั้งได้หรือไม่
ต้อลมสามารถกลับมาเป็นได้อีก ไม่มีวิธีรักษาต้อลมให้หายขาด หากเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดต้อลมอีกครั้ง เช่น การสวมแว่นกันแดด หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีฝุ่น มลภาวะ และการรักษาสุขอนามัยของดวงตา
ต้อลม เป็นต้อที่อันตรายหรือไม่
ต้อลมที่ตา เป็นต้อชนิดที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อลม เพื่อป้องกันอาการต้อลมอักเสบ และยับยั้งการพัฒนาไปเป็นต้อเนื้อ
เป็นต้อลมสามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ไหม
สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคำนึงถึงขนาด ตำแหน่ง และอาการของต้อลมที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้ดวงตาแห้งกว่าปกติ หากเรามีอาการต้อลมอักเสบหรือมีอาการตาแดง ระคายเคืองตา การใส่คอนแทคเลนส์อาจทำให้เราเคืองตามากกว่าเดิม
ต้อลมเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุหรือไม่
ต้อลมเป็นโรคตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เนื่องจากสาเหตุการเกิดของต้อชนิดนี้ เกิดจากการเผชิญกับรังสียูวี ฝุ่น ควัน เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง หากใครที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ต้องเผชิญสิ่งเหล่านั้นอยู๋เป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อยล้วนสามารถเป็นโรคต้อลมได้
ยาหยอดตาต้อลม สามารถรักษาต้อลมได้หรือไม่
นอกจากการยับยั้งความรุนแรงของต้อลม ด้วยการป้องกันดวงตาจากรังสียูวี และมลภาวะต่าง ๆ แล้ว วิธีรักษาต้อลม หากมีอาการตาแดง สามารถบรรเทาได้ ด้วยยาแก้ต้อลมหรือยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ Antazoline และ Tetrahydrozoline อย่างไรก็ตามการใช้ยาหยอดเป็นเพียงการช่วยบรรเทาอาการ ไม่ใช่วิธีกำจัดต้อลมให้หายไป และการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
เป็นต้อลม สามารถทำเลสิกได้หรือไม่
กรณีที่เป็นต้อลมในระยะไม่รุนแรง สามารถทำเลสิกได้ อย่างไรก็ตามควรเข้ารับการตรวจประเมินถึงขนาด อาการ ระดับความรุนแรงกับจักษุแพทย์ในเบื้องต้น หากมีต้อลมขนาดใหญ่ และมีอาการระคายเคืองหรืออักเสบ ควรเข้ารับการรักษาต้อลมให้หายดีก่อนทำเลสิก
ทั้งนี้ควรเข้ารับคำปรึกษา และตรวจสุขภาพดวงตาอย่างละเอียดก่อน เนื่องจากต้อลมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนของการทำเลสิก เช่น อาการตาแห้งได้
เมื่อเป็นต้อลม รักษาที่ไหนดี
หากเกิดต้อลมที่บริเวณเยื่อบุตาขาว และส่งกระทบต่อการมองเห็น รวมถึงเกิดอาการระคายเคืองร่วมด้วย ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม โดยโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านดวงตาอย่าง inZ Hospital มีจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญให้การรักษาปัญหาโรคตาได้อย่างครอบคลุม อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน ปลอดภัย เครื่องมือทันสมัย สามารถให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อสรุปการเป็นต้อลม
ต้อลมเป็นโรคที่เกิดจากการที่ดวงตาของเราเผชิญกับแสงแดด ฝุ่น ควัน มลภาวะเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองบริเวณเยื่อบุตาขาว แต่ตาต้อลมนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมองเห็น สามารถดูแลเบื้องต้นด้วยตัวเองด้วยการสวมใส่แว่นกันแดด เพื่อยับยั้งความรุนแรง หากอาการรุนแรง เริ่มรบกวนการมองเห็น ควรเข้ารับการรักษากับจักษุแพทย์ทันที
เอกสารอ้างอิง
Kierstan Boyd. What Is a Pinguecula and a Pterygium (Surfer’s Eye) ?. (2022, September 23). AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
https://www.aao.org/eye-health/diseases/pinguecula-pterygium
Pinguecula. (n.d.). clevelandclinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/23443-pinguecula