โรคยอดฮิตอีกหนึ่งโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเรา นั่นก็คือ ต้อเนื้อ ซึ่งเป็นโรคต้อที่พัฒนามาจากโรคต้อลม และนอกจากโรคต้อหิน หนึ่งในชนิดต้อที่เป็นอันตรายต่อการมองเห็นของเราแล้ว หากไม่ดูแลรักษาต้อเนื้อให้ดี ก็สามารถเป็นอันตรายต่อการมองเห็นของเราได้เช่นกัน เราจึงควรทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อยับยั้งการพัฒนาความรุนแรงของโรค สาเหตุการพัฒนาความรุนแรงของต้อเนื้อ คืออะไร ? บทความนี้มีคำตอบ
ต้อเนื้อ คืออะไร
ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ การเติบโตของแผ่นเนื้อเยื่อสีแดงอ่อนที่บริเวณเยื่อบุตา สามารถลุกลามเข้าไปบริเวณกระจกตาดำ ซึ่งอาจบดบังการมองเห็นได้ ส่วนมากโรคต้อเนื้อจะเกิดขึ้นบริเวณหัวตา
ต้อเนื้อเกิดจากอะไร
สาเหตุการเกิดต้อเนื้อกับต้อลมนั้นมีความคล้ายกัน คือ การที่ดวงตาของเราปะทะกับแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลต รวมถึงฝุ่น ลม มลภาวะอยู่เป็นประจำ แต่มีความแตกต่างกับสาเหตุของต้อลมที่ว่า ต้อเนื้อมักจะเกิดจากอาการระคายเคืองและอักเสบที่เรื้อรัง ซึ่งทำให้ความผิดปกติเหล่านั้น พัฒนาจากต้อลมกลายเป็นต้อเนื้อที่เยื่อบุตา
ลักษณะอาการต้อเนื้อ
อาการต้อเนื้อ (Pterygium) สามารถสังเกตได้จากการมีเนื้อเยื่อสีแดงเกิดขึ้นบริเวณหัวตาลุกลามเข้าไปในพื้นที่ตาดำ ส่วนมากจะพบต้อเนื้อที่บริเวณหัวตามากกว่าบริเวณหางตา โดยจะมีอาการตาแดง ระคายเคืองตา แสบตาและน้ำตาไหล หากต้อเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นลุกลามจนถึงบริเวณกลางตาดำ จะส่งผลให้การมองเห็นถูกรบกวน
การตรวจวินิจฉัยโรคต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ เป็นโรคตาที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์จะทำการตรวจตา และซักถามข้อมูล เพื่อวินิจฉัยปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ โดยแพทย์จะคอยติดตามอาการ และการเปลี่ยนแปลงขนาดของต้อเนื้อ หากมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามเข้าตาดำ จะต้องทำการผ่าตัดต้อเนื้อออก เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อการมองเห็น
แล้วควรเข้าพบแพทย์เมื่อใด? เมื่อสังเกตว่า ต้อเนื้อ อาการเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือเริ่มส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การมองเห็นพร่ามัว รู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองมาก มีภาวะสายตาเอียง ควรเข้าพบแพทย์โดยทันที เพื่อทำการรักษาบรรเทาอาการ ยับยั้งการพัฒนาความรุนแรง และป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้
แนวทางรักษาโรคต้อเนื้อ
เมื่อเริ่มมีอาการต้อเนื้อ (Pterygium) ควรรีบดูแลรักษา เพื่อป้องกันการลุกลามเข้ากระจกตาดำที่อาจบดบังการมองเห็นของเรา โดยวิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ สามารถรักษาต้อเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัด และรักษาด้วยการผ่าต้อเนื้อ
รักษาด้วยยาหยอด
กรณีที่เป็นต้อเนื้อ ระยะแรกหรือในระยะที่ยังไม่รบกวนความสามารถในการมองเห็น สามารถหยอดน้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการตาแห้งและอาการระคายเคืองตาหรือเข้าพบแพทย์ เพื่อรับยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ตาแดง ระคายเคืองตา ยับยั้งการขยายตัวของต้อเนื้อ แต่การรักษาด้วยยาหยอดต้อเนื้อนี้ ไม่สามารถกำจัดต้อเนื้อให้หายไปได้
รักษาด้วยการผ่าตัด
เมื่อวิธีรักษาต้อเนื้อด้วยยาหยอดไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้อีกต่อไป รวมถึงต้อเนื้อที่เกิดขึ้นเริ่มลุกลามเข้าไปบริเวณกระจกตาดำจนบดบังการมองเห็นหรือลุกลามเข้าไปดึงรั้งกระจกตาจนทำให้กระจกตาผิดรูป หากมีอาการดังกล่าว จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดต้อเนื้อสามารถแยกออกได้หลัก ๆ ด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดลอกต้อเนื้อที่เยื่อบุตาและส่วนที่ลุกลามเข้าไปในตาดำออก แต่การผ่าตัดวิธีนี้มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นต้อเนื้ออีกครั้ง
- การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อบริเวณที่ลอกออก โดยเนื้อเยื่อที่ปลูกอาจเป็นเนื้อเยื่อจากรกหรือเป็นเนื้อเยื่อบุตาของผู้เข้ารักษา ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ โอกาสจะกลับมาเป็นอีกครั้งค่อนข้างน้อย
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคต้อเนื้อ
วิธีการป้องกันการเป็นโรคต้อเนื้อ (Pterygium) คือ การยับยั้งสาเหตุการเกิดต้อเนื้อ ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพียงหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และสถานที่ที่มีฝุ่น ควัน มลภาวะเยอะ อีกทั้งในตอนที่ต้องทำกิจกรรมในพื้นที่แจ้งควรสวมหมวกและแว่นกันแดด รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการถูขยี้ตาที่อาจกระตุ้นอาการอักเสบของต้อเนื้อและหมั่นหยอดน้ำตาเทียมเมื่อเกิดอาการตาแห้ง
ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตดวงตา หากมีความผิดปกติ จะสามารถเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาได้อย่างเร็วที่สุด
FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคต้อเนื้อ
ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคต้อเนื้อที่อาจเป็นข้อกังวลใจของใครหลาย ๆ คน เนื่องจาก ‘ต้อเนื้อ’ เป็นโรคที่พัฒนาความรุนแรงได้มากขึ้นเรื่อย ๆ หากละเลยการดูแลรักษา
ต้อเนื้อ จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่
การผ่าตัดต้อเนื้อ จำเป็นหรือไม่ ? หากมีต้อเนื้อ อาการรุนแรงหรือต้อเนื้อลุกลามเข้าไปบริเวณตาดำ จำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อป้องกันการมองเห็นถูกบดบัง และการถูกต้อเนื้อดึงรั้งกระจกตาจนกระจกตาผิดรูป ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสายตาเอียง
ต้อเนื้อ สามารถรักษาด้วยยาอย่างเดียวได้ไหม
วิธีรักษาต้อเนื้อ ด้วยยาหยอดไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหรือแผ่นเนื้อเยื่อสีแดงที่เกิดขึ้นหายไปได้ การรักษาต้อเนื้อในตาด้วยยาหยอด เป็นเพียงการบรรเทาอาการระคายเคือง หากต้องการรักษาหรือกำจัดต้อเนื้อ สามารถทำได้ด้วยวิธีผ่าตัดเท่านั้น
ต้อเนื้อปล่อยไว้มีสิทธิ์ตาบอดไหม
กรณีที่ต้อเนื้อลุกลามไปยังบริเวณผิวกระจกตา ต้อเนื้อจะบดบังการมองเห็น ทำให้เรามองเห็นภาพไม่ชัด หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้ต้อเนื้อพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
เป็นต้อเนื้อสามารถทำเลสิกได้ไหม
ในกรณีที่เป็นโรคต้อเนื้อ หากเป็นต้อเนื้อ อาการเริ่มต้นหรือต้อเนื้อมีขนาดเล็ก สามารถทำเลสิกได้ แต่ในกรณีที่ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ ควรทำการรักษาหรือผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกก่อนแล้วจึงเข้ารับการทำเลสิก
เป็นต้อเนื้อ สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติหรือไม่
เมื่อเป็นต้อเนื้อ ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะยิ่งทำให้ดวงตาเกิดอาการตาแห้ง ระคายเคืองมากกว่าเดิม ทั้งนี้ควรปรึกษากับจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเหมาะสมและความรุนแรงของอาการ
ต้อเนื้อสามารถหายไปได้เองได้ไหม
ต้อเนื้อไม่สามารถหายไปได้เอง การผ่าตัดเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถกำจัดต้อเนื้อออกไปได้ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมตามความรุนแรงของอาการ
เป็นต้อเนื้อ รักษาที่ไหนดี
การผ่าตัดต้อเนื้อเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ความระมัดระวัง จะต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญเรื่องดวงตา เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และควรเลือกเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ สะอาด เครื่องมือทันสมัย
วางใจให้ inZ Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางเรื่องดวงตา ช่วยดูแลปัญหาสุขภาพตาของคุณได้ ที่ inZ Hospital ให้การดำเนินการรักษา โดยจักษุแพทย์มากประสบการณ์ ใส่ใจปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน พร้อมเครื่องมือรักษาที่ทันสมัย รับรองได้ถึงความปลอดภัย
ข้อสรุปโรคต้อเนื้อ
ต้อเนื้อเกิดจากการระคายเคืองและการอักเสบเรื้อรังของดวงตา เนื่องจากดวงตาปะทะกับรังสีอัลตราไวโอเลตและฝุ่นละออง ควัน มลภาวะอยู่เป็นประจำ สามารถลุกลามเข้าไปบริเวณกระจกตาได้
ทั้งนี้ควรรีบยับยั้งการพัฒนาความรุนแรง ด้วยการหลีกเลี่ยงที่ที่แสงแดดจ้าหรือสถานที่ที่ฝุ่น ควันเยอะ เพื่อลดโอกาสการเกิดการอักเสบของดวงตา และสามารถรับการรักษาต้อเนื้อในตาได้ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
เอกสารอ้างอิง
Pterygium (Surfer’s Eye). (n.d.). clevelandclinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22497-pterygium-surfers-eye
Lori M. King. What Is Pterygium (Surfer’s Eye)?. (2024, February 13). WebMD. https://www.webmd.com/eye-health/pterygium-surfers-eye