ต้อกระจก ตัวการบดบังสายตา เกิดได้จากหลายสาเหตุ

ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายของเรายิ่งเสื่อมลง “ต้อกระจก” ก็เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของดวงตาของเรา ถึงแม้ว่าลักษณะอาการของโรคต้อกระจกอาจดูน่ากลัว แต่เป็นต้อชนิดที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด

สารบัญบทความ

    ต้อกระจก คืออะไร ?

    ตาต้อกระจก คืออะไร
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.aao.org

    ต้อกระจก คือ โรคต้อที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา มีลักษณะขุ่นมัว ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเลนส์ตาไปได้ การมองเห็นของผู้ที่เป็นต้อกระจก จึงมีความพร่ามัวคล้ายมีหมอกควันบดบัง

    รู้จักชนิดของต้อกระจก

    ชนิดของต้อกระจกมีด้วยกันอยู่หลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งการเกิดหรือลักษณะของต้อกระจก

    nuclear cataract

    ต้อกระจกชนิด nuclear cataract เลนส์ตาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และน้ำตาลอย่างช้า ๆ โดยผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกชนิดนี้ เริ่มแรกอาจมีอาการมองเห็นไม่ชัดในระยะไกล แต่สามารถมองเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจน ควรรีบรักษา และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะส่งผลต่อการมองเห็นที่แย่ลง

    cortical cataract

    cortical cataract หรือต้อกระจกที่มีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นที่เลนส์ชั้นนอก หากปล่อยไว้ให้อาการพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ลุกลามจนแสงไม่สามารถผ่านเข้าดวงตาได้อย่างเต็มที่ 

    anterior subcapsular cataract

    anterior subcapsular cataract เป็นชนิดของต้อกระจกที่มักเกิดขึ้นได้หลังจากดวงตาได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ แต่ในบางรายอาจเกิดจากการใช้ยาหรือในบางรายก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

    posterior subcapsular cataract

    ต้อกระจกชนิด posterior subcapsular อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ มีปัญหาสายตาสั้นมาก ๆ เป็นต้น ต้อกระจกชนิดนี้ มักส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมองเห็นเวลาอ่านหนังสือหรือขับรถ และอาจทำให้เกิดอาการเห็นแสงกระจายในตอนกลางคืน อีกทั้งต้อกระจกชนิดนี้ พัฒนาได้เร็วกว่าชนิดอื่น ๆ อีกด้วย

    อาการต้อกระจกเป็นอย่างไร

    ลักษณะอาการต้อกระจก

    1. ระยะเริ่มแรก (Early Cataract) 

    ต้อกระจก ระยะแรก ผู้ป่วยอาจสังเกตได้ว่า ตนเองมีความยากลำบากในการมองระยะไกลสลับกับมองในระยะใกล้ มองเห็นไม่ชัดอย่างที่ควรจะเป็น และอาจรู้สึกตาล้าได้ง่าย

    2. ระยะก่อนต้อสุก (Immature Cataract)

    ต้อกระจกระยะก่อนสุก จะเริ่มมีความขุ่นมัวบริเวณกึ่งกลางเลนส์แก้วตา เป็นระยะที่สามารถใช้แว่นสายตา ช่วยในการมองเห็นให้ชัดขึ้น

    3. ระยะต้อสุก (Mature Cataract) 

    ระยะต้อสุก หรือต้อกระจกในระยะที่เลนส์แก้วตาจะมีความขุ่นมัวมาก ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าต้อกระจก 

    4. ระยะต้อสุกเกิน (Hypermature Cataract) 

    ระยะต้อสุกเกิน เป็นระยะที่ผู้ป่วยโรคต้อกระจก ภาพที่เห็นไม่ชัดขั้นรุนแรง จะต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ แทรกซ้อน เช่น อาการอักเสบ และอาจส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวแม้ได้รับการรักษาต้อกระจกแล้วก็ตาม

    ต้อกระจกเกิดจากอะไร

    ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา มักเกิดกับกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามสาเหตุการเกิดต้อกระจกมีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

    • อายุที่เพิ่มขึ้น
    • กรรมพันธุ์ 
    • การที่ดวงตาเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลานาน
    • การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง
    • มีประวัติเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา
    • มีโรคประจำตัวและโรคทางตา เช่น มีการติดเชื้อที่ตา ต้อกระจกจากเบาหวาน

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อกระจก

    นอกจากสาเหตุการเกิดโรคต้อกระจกข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดต้อกระจกได้ อย่างเช่น การมีโรคตาหรือโรคทางกาย ไม่ว่าจะเป็น

    • เบาหวานขึ้นตา เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง 
    • ม่านตาอักเสบ จากการอักเสบที่เรื้อรัง สามารถทำให้เกิดต้อกระจกเป็นภาวะแทรกซ้อนได้
    • มีค่าสายตาสั้นสูงมาก 

    การตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจก

    การตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจก แพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียด เช่น ขยายรูม่านตา ตรวจวัดการมองเห็น วัดค่าสายตา วัดความดันภายในตา เพื่อที่จะประเมินอาการ ความรุนแรง ชนิดของต้อกระจก รวมถึงตรวจดูว่า ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือโรคตาอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วยหรือไม่ หลังจากการตรวจ จักษุแพทย์จะสามารถวางแผนแนวทางการรักษาต้อกระจกที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

    แนวทางวิธีรักษาต้อกระจก

    วิธีการรักษาต้อกระจก

    แนวทางการรักษาโรคต้อกระจกมีทั้งวิธีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงและการวินิจฉัยของแพทย์ โดยต้อกระจก อาการเริ่มต้น สามารถสวมแว่นตา เพื่อแก้ปัญหามองเห็นไม่ชัดได้

    ส่วนวิธีรักษาแบบผ่าตัดต้อกระจก สามารถทำได้ด้วยวิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ แล้วนำเลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แต่ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมากจนไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่องสลายต้อจะต้องผ่าตัด โดยการเปิดแผลนำเอาเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพออก และเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทน จากนั้นจึงเย็บปิดแผล ซึ่งวิธีนี้แผลที่เปิดจะมีขนาดกว้างกว่าแผลที่เกิดจากวิธีการสลายต้อ

    วิธีการป้องกัน หลีกเลี่ยงโรคต้อกระจก

    แม้ว่า วิธีการป้องกันต้อกระจกจะไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ให้หมดไปได้แต่สามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมแว่นกันรังสี UVA และ UVB ในตอนที่อยู่กลางแจ้ง งดการสูบบุหรี่ ควบคุมความดันและระดับปริมาณน้ำตาลในเลือด และควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี

    FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

    อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจยังมีข้อสงสัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโรคต้อกระจก inZ Hospital มาไขข้อสงสัยไว้ด้านล่างนี้แล้ว

    ต้อกระจก หายเองได้ไหม ถ้ารักษาแล้วกลับมาเป็นอีกครั้งได้ไหม

    ต้อกระจก หายเองได้ไหม? โรคต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าต้อกระจกเปลี่ยนเลนส์ตา โดยหลังการผ่าตัดจะไม่กลับมาเป็นอีกในอนาคต

    การผ่าตัดต้อกระจกจะทำให้สายตาสั้น ยาว เอียงหายไปได้หรือไม่

    การรักษาต้อกระจกด้วยวิธีผ่าตัดร่วมกับการเปลี่ยนเลนส์เทียม โดยเลือกชนิดเลนส์เทียมที่มีค่าสายตาตรงกับปัญหาของเรา จะสามารถแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงได้ อย่างไรก็ตามหลังการผ่าต้อกระจก ในบางรายอาจยังต้องสวมแว่นในการทำกิจกรรมบางชนิด เช่น อ่านหนังสือหรือในเวลามองบางอย่างในระยะใกล้

    ตาเป็นต้อกระจก ทำเลสิกได้หรือไม่

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำเลสิกเป็นการแก้ปัญหาสายตาที่กระจกตา แต่ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความขุ่นมัวที่เลนส์ตา แม้ว่าจะแก้ปัญหาการมองเห็นไม่ชัดด้วยการทำเลสิกแล้ว แต่เมื่อต้อกระจกพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือเลนส์ตาขุ่นมัวมากขึ้นก็จะทำให้การมองเห็นกลับมาไม่ชัดอีกครั้ง

    ควรเข้าพบจักษุแพทย์ รับการตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับปัจจัยของเรามากที่สุด

    เป็นต้อกระจกอันตรายไหม

    ต้อกระจก อันตรายไหม? ต้อกระจกไม่ใช่โรคที่อันตราย เพราะถึงแม้ว่า ต้อกระจกจะบดบังการมองเห็นทั้งหมด สามารถแก้ไขได้ด้วยการเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาที่ขุ่นมัวเป็นเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งการมองเห็นจะกลับมาชัดเหมือนปกติ

    ข้อสรุปเกี่ยวกับต้อกระจก

    โรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตาหรือการที่ตาดำมีลักษณะขุ่นมัว ทำให้การมองเห็นพร่ามัวคล้ายมีหมอกมาบดบัง สามารถแก้ได้ด้วยการผ่าตัดต้อกระจกหรือที่เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม เพื่อเรียกคืนการมองเห็นที่ชัด ควรเข้ารับการปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการและปัจจัยของแต่ละคน รวมถึงควรศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ผ่าต้อกระจก ราคาเท่าไหร่ พักฟื้นนานหรือไม่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรักษา

    เอกสารอ้างอิง 

    Cataracts. (2023 September, 28). mayoclinic.
    https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cataracts/symptoms-causes/syc-20353790

    Kierstan Boyd. (2023 October, 16). What Are Cataracts?. AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
    https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-are-cataracts