หนึ่งในโรคต้อที่นับว่าอันตรายมาก นั่นก็คือ ‘ต้อหิน’ เนื่องจากโรคต้อชนิดนี้ถือว่า เป็นภัยเงียบที่อาจพรากการมองเห็นของเราไปได้ หากไม่รีบตรวจและรับการดูแลรักษา อาจทำให้ตาบอดได้อย่างถาวร มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต้อหินให้มากขึ้นในบทความนี้
ทำความรู้จักต้อหิน
ต้อหิน (Glaucoma) เป็นหนึ่งในโรคกลุ่มต้อที่อันตราย เนื่องจากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการให้เห็นต่างจากโรคต้อเนื้อ หรือ ต้อลม ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และต้อหินสามารถลุกลามจนทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้อย่างถาวร โดยต้อหิน เกิดจากการที่ความดันตาสูงขึ้น ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลาย นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
กลไกการเกิดต้อหิน
อย่างที่ได้กล่าวว่า ต้อหิน เกิดจากความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอุดตันของท่อระบายน้ำในลูกตา โดยปกติแล้วน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาจะไหลผ่านช่องบริเวณม่านตาและเลนส์ตา แล้วไหลออกทางท่อระบายน้ำบริเวณมุมตา แต่เมื่อเกิดการอุดตันที่ท่อระบาย น้ำจึงคั่งอยู่ภายใน เป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันเพิ่มขึ้น
ชนิดของต้อหิน มีอะไรบ้าง
สาเหตุ และลักษณะอาการของโรคแตกต่างกันไปตามชนิดของต้อหิน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
ต้อหินชนิดมุมปิด
ต้อหินมุมปิด เกิดจากการอุดตันของการระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น กรณีที่เป็นต้อหินเฉียบพลันที่ต้องรับการรักษาโดยด่วน ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง ปวดดวงตาอย่างรุนแรง การมองเห็นพร่ามัว ตาไม่สู้แสง อาจเกิดความรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน แต่ในกรณีเป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง มักไม่แสดงอาการ แต่อาจมีอาการปวดศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลาหลายปี
ต้อหินชนิดมุมเปิด
ต้อหินมุมเปิด เป็นชนิดต้อหินที่สามารถพบได้มากที่สุดในบรรดาทั้ง 4 ชนิด อีกทั้งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดที่ความดันตาสูงและความดันในลูกตาปกติ โดยในระยะเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการใดใด เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงผิดปกติ ส่งผลให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายจนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด ควรเข้าพบจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี หากตรวจพบความผิดปกติจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที
ต้อหินแต่กำเนิด
โรคต้อหินสามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด หากไม่รีบรักษา อาจทำให้ตาบอดได้อย่างถาวร สามารถสังเกตได้จากขนาดลูกตาของของเด็กที่จะมีขนาดใหญ่กว่าเด็กทั่วไป บริเวณกระจกตาหรือตาดำมีลักษณะขุ่น รวมถึงมีอาการแพ้แสงและน้ำตาไหลผิดปกติ
ต้อหินชนิดแทรกซ้อน
นอกจากต้อหินชนิดที่ได้กล่าวข้างต้น ยังมี ‘ต้อหินชนิดแทรกซ้อน’ ที่เกิดจากความผิดปกติทางตาอื่น ๆ เช่น การใช้ยาหยอดตาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ภาวะเบาหวานขึ้นตา ต้อกระจกสุกมาก เนื้องอกในลูกตา เป็นต้น
ต้อหิน เกิดจากอะไร
ต้อหิน สาเหตุการเกิด คืออะไร? ต้อหิน เกิดจากความดันในลูกตาสูง ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลาย และหากปล่อยให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อย ๆ การมองเห็นจะถูกบีบให้แคบลงจนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น โดยความดันในลูกตาสูง เกิดจากการอุดตันที่ท่อระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำคั่งอยู่ภายใน ไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ
ลักษณะอาการของต้อหิน
อาการของต้อหินนั้น ไม่แสดงออกมาให้เห็นในระยะเริ่มต้น กว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าตนเองเป็นต้อหิน ก็อาจอยู่ในต้อหิน ระยะสุดท้ายหรือสูญเสียการมองเห็นแล้ว โดยลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปตามชนิดของต้อหินดังที่กล่าวข้างต้น จึงควรสังเกตสุขภาพดวงตาของตนเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และควรตรวจสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่ว่า หากพบความผิดปกติในระยะแรก จะสามารถยับยั้งการพัฒนาความรุนแรงไว้ได้ โดยลักษณะการมองเห็นของผู้ที่เป็นต้อหินจะแคบลงอย่างช้า ๆ ดังภาพตัวอย่างข้างต้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตาอย่างต้อหิน มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- อายุ – ส่วนใหญ่แล้วโรคต้อหินจะพบในกลุ่มผู้สูงวัย
- กรรมพันธุ์ – หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นกัน
- ความดันในลูกตาสูง – ใครที่มีความดันในลูกตาสูง แนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินนั้นสูงตาม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ
- การใช้ยา – ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ภาวะแทรกซ้อนของต้อหิน
เนื่องจาก ต้อหิน เป็นโรคต้อชนิดที่อันตรายที่สุดใน 4 ต้อ หากไม่รีบรักษายับยั้งการพัฒนาความรุนแรง สามารถนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้อย่างถาวร เนื่องจากประสาทตาจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ การพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาต้อหินอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และไม่ควรละเลย
การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหิน
ก่อนจะทำการรักษาต้อหิน จักษุแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัย ตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด โดยการวินิจฉัยโรคต้อหิน จำเป็นต้องตรวจตา ดังต่อไปนี้
- ตรวจค่าประสิทธิภาพการมองเห็น
- ตรวจความดันลูกตา
- ตรวจประสาทตา และจอรับภาพ
- วัดประสิทธิภาพลานสายตา
- วัดความหนาของกระจกตา
- ตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา
การตรวจวินิจฉัยดังกล่าว สามารถตรวจวัดค่าความดันลูกตา รวมถึงชนิดของต้อหิน ได้อย่างละเอียด และแม่นยำ แพทย์จะสามารถประเมินถึงความรุนแรง และวางแผนการรักษาโรคต้อหินที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน
แนวทางวิธีรักษาต้อหิน
เมื่อมีอาการต้อหินแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายไปได้ แต่สามารถชะลอการพัฒนาความรุนแรงให้ช้าลงได้ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับสาเหตุการเกิดและปัจจัยอื่น ๆ ของแต่ละคน เช่น ในกรณีเป็นต้อหินชนิดมุมตาปิดจนทำให้ความดันตาสูง สามารถรักษาด้วยการใช้ยาและการใช้เลเซอร์ รวมถึงการผ่าตัดเพื่อหาทางระบายน้ำออก เป็นต้น
การรักษาต้อหิน เป็นการลดความดันภายในลูกตา สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การใช้ยา การเลเซอร์ และการผ่าตัด
ใช้ยารักษา
ในเบื้องต้น วิธีรักษาต้อหิน ด้วยการลดความดันในลูกตา สามารถใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาหรือยาประเภทรับประทานที่นอกจากจะลดความดันตาแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดการสร้างของเหลวภายในลูกตา และช่วยระบายน้ำในลูกตาได้อีกด้วย
การเลเซอร์
การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์ ช่วยระบายน้ำภายในลูกตา เพื่อลดความดันให้ต่ำลง เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดความดันตาได้ด้วยวิธีการใช้ยา อาจมีอาการระคายเคือง ตาแห้ง ตาสู้แสงไม่ได้หลังการรักษา
การผ่าตัด
ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันภายในลูกตา ด้วยการใช้ยารักษา และการใช้เลเซอร์ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดต้อหิน ซึ่งเป็นการผ่าตัดเปิดช่องขนาดเล็ก หาทางระบายน้ำออก เพื่อลดความดันในลูกตา
วิธีป้องกันหรือชะลอการเป็นต้อหิน
วิธีป้องกันต้อหิน สามารถทำได้โดยการเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปี เนื่องจากโรคต้อหินในระยะแรก มักไม่แสดงอาการใดๆ หากพบความผิดปกติจะสามารถรักษาได้เร็ว เพื่อชะลอการพัฒนาความรุนแรง โดยแพทย์จะประเมินถึงสาเหตุ อาการ ความรุนแรง เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงหรือควบคุมสาเหตุและปัจจัยที่อาจทำให้เป็นโรคต้อหิน เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือการลดการใช้ยาชนิดสเตียรอยด์ เป็นต้น
FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคต้อหิน
inZ Hospital รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับ ต้อหิน ไว้ด้านล่างนี้ มาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน
ต้อหิน สามารถหายเองได้ไหม
ตาเป็นต้อหิน ไม่สามารถหายได้เอง และไม่สามารถรักษาต้อหินให้หายขาดได้ เนื่องจากต้อหิน เป็นโรคที่เกิดจากการที่เส้นประสาทถูกทำลาย การรักษาต้อหิน จึงเป็นเพียงการชะลอความรุนแรงเท่านั้น
เป็นต้อหิน มีข้อควรระวังอะไรหรือไม่
เนื่องจากโรคต้อหิน เป็นต้อที่เกิดจากความดันในลูกตาสูง จึงต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการทำกิจกรรมบางอย่างที่อาจเป็นการเพิ่มระดับความดันลูกตาให้สูงขึ้น เช่น โยคะท่าหัวต่ำหรือกิจกรรมที่ห้อยหัวลง ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา รวมถึงการควบคุมโรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากเช่นกัน
ต้อหินอันตรายไหม
ต้อหินเป็นต้อชนิดที่อันตราย เพราะสามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้อย่างถาวร จึงควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติ จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค
สรุปโรคต้อหิน
ต้อหิน เป็นชนิดโรคต้อที่อันตราย อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างถาวร เกิดจากความดันตาสูง ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายจนสูญเสียลานตาและตาบอดในที่สุด โดยต้อหินในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการให้เห็น จึงควรตรวจดวงตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี
เอกสารอ้างอิง
Glaucoma. (n.d.). clevelandclinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4212-glaucoma
Glaucoma. (n.d.). NHS.
https://www.nhs.uk/conditions/glaucoma/