PRK วิธีรักษาปัญหาสายตา เพื่อคนกระจกตาบาง

วิธีรักษาค่าสายตาที่ผิดปกติอย่างถาวร ใครว่ามีแค่การทำเลสิก? PRK หรือ Photorefractive Keratectomy เป็นอีกวิธีทางเลือกสำหรับคนที่มีข้อจำกัดในการทำเลสิก  มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาค่าสายตา การมองเห็นที่พร่ามัวให้กลับมาสดใสได้ดีไม่แพ้การทำเลสิก มาทำความเข้าใจว่า PRK คืออะไร ? ต่างจากการทำเลสิกที่เรารู้จักอย่างไร ?

สารบัญบทความ

    ทำความรู้จัก PRK (Photorefractive Keratectomy) 

    prk คืออะไร

    PRK (Photorefractive Keratectomy) คือ วิธีรักษาปัญหาค่าสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยการลอกผิวเยื่อหุ้มกระจกตาด้านนอกออกและทำการผ่าตัดโดยใช้แสงเลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตา 

    การทำเลสิก PRK เป็นวิธีการผ่าตัดที่ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา จึงเหมาะกับผู้ที่กระจกตาบางและไม่สามารถทำเลสิกได้ ซึ่งผิวเยื่อหุ้มกระจกตาที่ลอกออกจะสามารถฟื้นฟูสร้างขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ

    ปัญหาสายตาที่ PRK แก้ได้ 

     PRK หรือวิธีรักษาปัญหาสายตาด้วยแสงเลเซอร์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำการแยกชั้นกระจกตา สามารถแก้ปัญหาสายตาได้อย่างครอบคลุมทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง

    เลสิกสายตาสั้น

    PRK เป็นวิธีแก้ปัญหาสายตาสั้นด้วยการใช้เลเซอร์เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตาที่มีความโค้งมากผิดปกติ โดย PRK จะช่วยให้ปัญหาสายตาสั้นกลับมามองเห็นในระยะไกลชัดมากยิ่งขึ้น

    เลสิกสายตายาว

    การทำ PRK ที่จะช่วยปรับความโค้งของกระจกตาที่แบนเกินไปให้ดูโก่งขึ้น ช่วยในคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิด เลสิกสายตายาวตอบโจทย์ใครที่มีปัญหากระจกตาบาง และมีภาวะตาแห้ง

    เลสิกสายตาเอียง

    การมองเห็นภาพที่ไม่คมชัด หรือรู้สึกมีภาพซ้อน ซึ่งเป็นอาการของสายตาเอียงที่เกิดจากความโค้งที่ไม่เท่ากันของกระจกตา สามารถรักษาได้ด้วย PRK 

    PRK แตกต่างจากเลสิกแบบอื่นอย่างไร ?  

    ทำ prk แตกต่างอย่างไร

    หากเกิดข้อสงสัยว่า PRK แตกต่างจากการทำเลสิกแบบอื่น ๆ อย่างไร inZ Hospital ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของวิธีทางเลือกอื่น ๆ กับ PRK ไว้แล้ว

    ความแตกต่างระหว่าง PRK กับ ReLEx 

    ความแตกต่างของ PRK กับ ReLEx อย่างแรก คือ PRK สามารถรักษาได้ทั้งปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง แต่ ReLEx สามารถรักษาได้เพียงค่าสายตาสั้น และสายตาเอียง รวมถึงในส่วนของขั้นตอนการผ่าตัด PRK ต้องทำการลอกเยื่อหุ้มกระจกตาด้านนอกออกก่อน แล้วจึงใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปปรับความโค้งของกระจกตา แต่ ReLEx เป็นการใช้แสงเลเซอร์ตัดชิ้นกระจกตาส่วนเกิน และนำออกทางแผลขนาดเล็กที่เปิดไว้ ทำให้ผลข้างเคียง และระยะเวลาในการพักฟื้นของสองวิธีนี้ มีความแตกต่างกัน โดยพบว่า การทำ  PRK ระยะพักฟื้นจะนานกว่า ReLEx

    ความแตกต่างระหว่าง PRK กับ Femto LASIK 

    PRK แตกต่างจากการทำ Femto LASIK ที่ว่า การรักษาด้วย PRK ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา แต่เป็นการลอกผิวเยื่อหุ้มกระจกตาออก และหลังจากใช้เลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตาแล้ว จำเป็นจะต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษในช่วงพักฟื้น ซึ่งเป็นช่วงที่รอเยื่อหุ้มกระจกตาฟื้นฟูกลับมา แต่ Femto LASIK เป็นวิธีที่ใช้แสงเลเซอร์แยกชั้นกระจกตาสร้างเป็นฝากระจกตา แล้วค่อยยิงเลเซอร์เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตา จากนั้นจึงปิดฝากระจกตาเข้าตำแหน่งเดิม

    ความแตกต่างระหว่าง PRK กับ LASIK 

     ความแตกต่างระหว่าง prk กับ lasik คือ การทำ PRK จะไม่แยกชั้นกระจกตาเหมือนกับการทำเลสิก แต่เป็นการลอกผิวเยื่อหุ้มกระจกตาออก เพื่อยิงเลเซอร์ ปรับความโค้งของกระจกตา แต่การทำเลสิกเป็นการเปิดแผลกรีดผิวกระจกตาทำให้เป็นฝา  แล้วจึงค่อยยิงเลเซอร์ปรับกระจกตา ทำให้ระยะเวลาในการพักฟื้นหรือผลข้างเคียงมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ควรเข้าพบจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประเมินถึงปัญหาของแต่ละคนและให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมมากที่สุด

    ข้อดี และข้อจำกัดของ PRK

    อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า PRK เป็นวิธีแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียงที่เป็นทางเลือกของคนมีข้อจำกัดในการทำเลสิก แล้ว PRK ข้อเสีย และข้อดี มีอะไรบ้าง ?  

    ข้อดีของการทำ PRK

    การทำ PRK นอกจากจะไม่ต้องแยกชั้นกระจกตาแล้ว PRK ยังมีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดน้อย เหมาะกับใครที่มีข้อจำกัดในการทำเลสิก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีกระจกตาบาง มีภาวะตาแห้ง และไม่มีการเย็บแผล สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด ผลลัพธ์อยู่ได้ถาวร อีกทั้งโอกาสการเกิดภาวะตาแห้งหลังผ่าตัดน้อย 

    ข้อจำกัดของการทำ PRK

    อย่างไรก็ตามการทำ PRK นั้น มีข้อจำกัดในการทำเช่นกัน 

    • อาจเกิดอาการเจ็บ ระคายเคือง ตาสู้แสงไม่ได้ การมองเห็นพร่ามัวในช่วง 7 วันหลังการผ่าตัด
    • ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่าการทำเลสิก ต้องติดตามอาการหลังผ่าตัดบ่อยกว่าเลสิก
    • ผู้เข้ารับการรักษาบางรายอาจประสบปัญหาในการมองเห็นตอนกลางคืน เช่น การเห็นแสงกระจายรอบดวงไฟ แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังการรักษา
    • การแก้ปัญหาค่าสายตาที่ขาดหรือเกิน (Undercorrection or Overcorrection) หากเกิดกรณีนี้ อาจทำให้หลังการทำ PRK แล้ว ยังคงต้องใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ต่อไป
    • ระยะเวลาในการหยอดยาสเตียรอยด์หลังผ่าตัดนานกว่าการทำเลสิก
    • อาจเกิดอาการตาแห้งชั่วคราว สามารถใช้น้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการได้

    ใครเหมาะกับการทำ PRK บ้าง 

    เมื่อมีปัญหาสายตา และกำลังพิจารณาแนวทางการรักษา ก่อนการตัดสินใจทำเลสิก PRK ต้องเข้ารับการตรวจประเมินจากจักษุแพทย์ เช่นเดียวกับการผ่าตัดรักษาชนิดอื่น ๆ ว่า เราสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่ โดยผู้ที่เหมาะกับการทำ PRK มีดังต่อไปนี้

    ผู้ที่เหมาะกับการทำ PRK

    • ผู้ที่มีปัญหาค่าสายตาสั้น ยาว เอียง ไม่มากจนเกินไป หรือสั้นไม่เกิน 5.00 และเอียงไม่เกิน 2.00
    • ผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ค่าสายตาคงที่แล้ว 
    • ผู้ที่มีกระจกตาบาง มีภาวะตาแห้ง 
    • ผู้ที่ประกอบอาชีพทหาร ตำรวจ และนักบิน เนื่องจากการทำ PRK ไม่มีการเปิดฝากระจกตาเหมือนกับการทำเลสิกและ Femto LASIK จึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาฝากระจกตาเปิด เมื่อถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

    ผู้ที่ไม่ควรทำ PRK

    • ผู้ที่เป็นโรคทางกระจกตา ,โรคผิวกระจกตาหลุดลอก, keratoconus
    • ผู้ที่เป็นโรคต้อหิน อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนในเบื้องต้น
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

    ทั้งนี้ควรเข้ารับการปรึกษากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อประเมินที่ปัญหาของแต่ละคน และรับแนวทางการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด

    การประเมินสภาพสายตาก่อนเข้ารับการรักษา  PRK 

    การประเมินสภาพสายตาก่อนทำ PRK นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ไม่ต่างจากขั้นตอนในการผ่าตัด เนื่องจากการตรวจวัดค่าสายตา และตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดก่อนรับการรักษา จักษุแพทย์จะสามารถแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับปัญหาของเรามากที่สุด โดยขั้นตอนการตรวจตา ได้แก่

    • วัดค่าสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และวัดการมองเห็น
    • วัดรูปร่าง และความหนาของกระจกตา 
    • วัดความดันตาภายในลูกตา
    • ขยายม่านตา เพื่อตรวจจอประสาทตา และส่วนอื่น ๆ ภายในดวงตา

    ข้อปฏิบัติเตรียมตัวก่อนทำ PRK 

    เตรียมตัวก่อนทำ prk

    ก่อนทำ PRK มีข้อปฏิบัติในการเตรียมตัว เพื่อความปลอดภัย และความราบรื่นในการผ่าตัด ดังต่อไปนี้

    • งดใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอย่างน้อย 3 วันและชนิดแข็งอย่างน้อย 7 วัน
    • งดดื่มชาและกาแฟในวันที่เข้าผ่าตัด
    • งดการใช้เครื่องสำอาง แต่งหน้า ทาครีมบำรุง ฉีดน้ำหอมหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นในวันผ่าตัด
    • พักสายตา หลีกเลี่ยงการใช้สายตาอย่างหนักในวันก่อนการทำ PRK เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง
    • ควรมีผู้ติดตามมาด้วยในวันเข้าผ่าตัด เพื่อดูแลหลังการรักษาเสร็จสิ้น

    ขั้นตอนการทำ PRK 

    ขั้นตอนการทำ prk
    ขอบคุณรูปภาพจาก : ZEISS Medical Technology

    ลำดับขั้นตอนการทำ PRK เริ่มจากการหยอดยาชา เพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัด 

    • ลอกผิวเยื่อหุ้มกระจกตาด้านนอกออก
    • ยิงแสงเลเซอร์ Excimer Laser ปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อแก้ปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติ 

    เมื่อการผ่าตัด PRK เสร็จสิ้น จะต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันกระจกตาในระหว่างที่เยื่อหุ้มสร้างตัวขึ้นใหม่เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ 

    อีกทั้งหลังการผ่าตัดต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการหยอดตาหรือการหลีกเลี่ยงการถูขยี้ตาและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมบางชนิด เช่น การว่ายน้ำ เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ

    ข้อปฏิบัติหลังทำ PRK

    หลังทำ prk ต้องดูแลตนเองตามคำสั่งแพทย์ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันโอกาสในการติดเชื้อ

    • หลังการรักษาด้วย lasik PRK ต้องสวมที่ครอบตาตามที่แพทย์สั่ง
    • หลีกเลี่ยงการถูขยี้ตา และห้ามให้น้ำเข้าไปในดวงตา เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ 
    • รักษาความสะอาดรอบดวงตา หลีกเลี่ยงการปะทะกับสิ่งแปลกปลอม
    • ควรพักผ่อนและพักสายตาหลังการผ่าตัด 1 วัน
    • หยอดยาตามที่แพทย์สั่ง
    • ห้ามถอดคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษออกก่อนที่แพทย์สั่ง 

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังทำ PRK

    ผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำ prk คือ อาการระคายเคืองตา ไม่สบายตา ตาสู้แสงไม่ได้ อาการเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด หลังทำ PRK จึงควรพักสายตา และห้ามถอดคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษด้วยตนเอง หากมีอาการตาแห้ง สามารถหยอดน้ำตาเทียม บรรเทาอาการได้

    คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ PRK 

    คำถามพบบ่อยไม่ว่าจะเป็น PRK พักฟื้นกี่วัน ? ใช้เวลาผ่าตัดนานไหม ? รวมถึงคำถามอื่น ๆ ที่หลายคนสงสัย inZ Hospital ได้รวบรวมคำตอบข้อสงสัยเหล่านั้น ไว้ด้านล่างนี้แล้ว

    PRK ใช้เวลากี่วันเห็นผล?

    การมองเห็นจะเริ่มชัดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจใช้เวลามากกว่า 2 สัปดาห์ในการมองเห็นชัด หากเกิดอาการตาแห้งหลังการผ่าตัด สามารถใช้น้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการ

    PRK มองไม่ชัด เกิดจากอะไร?

    หลังเข้ารับการรักษาด้วย PRK อาจเกิดอาการมองไม่ชัด เห็นภาพเบลอ เนื่องจากอยู่ในช่วงพักฟื้น และอาจจะยังมีรอยถลอกจากการที่ต้องขูดผิวกระจกตาออกไป รอเยื่อผิวกระจกตากำลังสร้างตัวขึ้นใหม่ อาการจะสามารถหายไปได้เองเมื่อรอยถลอกซ่อมตัวเองเสร็จสิ้น การมองเห็นจะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

    PRK หลังทำต้องพักฟื้นกี่วัน?

    หลังทำ PRK พักฟื้นใช้เวลาในประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผิวกระจกตากำลังสร้างตัวขึ้น ควรป้องกันการถูกกระทบกระเทือน และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

    PRK ใช้เวลาผ่าตัดนานไหม?

    การผ่าตัดรักษาปัญหาค่าสายตาด้วยวิธี PRK ใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที และสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังผ่าตัด 

    ข้อสรุปในการทำ PRK

    PRK  (Photorefractive Keratectomy) เป็นการรักษาปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติ ผ่าตัดสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วยการลอกเยื่อหุ้มกระจกตาและยิงแสงเลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตา เป็นวิธีทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถทำเลสิกได้หรือมีกระจกตาบางและมีภาวะตาแห้ง ทั้งนี้ควรเข้ารับการตรวจดวงตาเบื้องต้นกับจักษุแพทย์ เพื่อประเมินและเลือกรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด

    เอกสารอ้างอิง

    Photorefractive Keratextomy (PRK) Eye Surgery. (n.d.). ClevelandClinic. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/8596-photorefractive-keratectomy-prk-eye-surgery 

    WHY IS MY VISION STILL BLURRY AFTER PRK?. (2021, August 27). claritylaservision. https://claritylaservision.com/why-is-my-vision-still-blurry-after-prk/