รู้จักกับปัญหาสายตาที่ส่งผลต่อการมองเห็น

           ในปัจจุบัน จะมีปัญหาสายตาที่พบได้ 4 แบบ คือสายตาสั้น สายตายาว (แบ่งออกเป็น สายตายาวแต่กำเนิดกับสายตายาวตามอายุ) และสายตาเอียง ปัญหาด้านสายตาเหล่านี้มีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกัน แต่ล้วนส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเหมือนกัน ซึ่งปัญหาสายตาสามารถพบร่วมกันได้ในดวงตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง เช่น สายตาสั้นและสายตายาว สายตาสั้นและสายตาเอียง สายตายาวและสายตาเอียง หรืออาจจะเป็นทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ในคนคนเดียวกันก็ได้

สารบัญบทความ

    ปัญหาทางสายตาคืออะไร? มีความแตกต่างกันอย่างไร?

    ปัญหาด้านสายตา
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.vrmny.com

               กระบวนการที่จะทำให้เรามองเห็นวัตถุ เริ่มต้นเมื่อมีแสงตกกระทบลงบนวัตถุ และสะท้อนเข้าสู่ดวงตา เมื่อแสงเดินทางผ่านกระจกตา ก็จะเกิดการหักเหไปตกยังจุดรับภาพบนจอประสาทตา จากนั้นจอประสาทตาจะส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองจึงทำการแปลผลออกมาเป็นภาพที่เราเห็น โดยปัญหาสายตาที่ทำให้การมองเห็นผิดปกติ คือการที่แสงหักเหแล้วไม่ตกไปยังจุดรับภาพบนจอประสาทตานั่นเอง

               ปัญหาสายตามีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่

    สายตาสั้น

               สายตาสั้น (Myopia หรือ Nearsightedness) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้แสงที่เดินทางผ่านกระจกตาเกิดการหักเหมากขึ้น รวมถึงขนาดของลูกตาที่มีความยาวมากเกินไป ทำให้ระยะระหว่างกระจกตาไปจนถึงจอประสาทตามีความยาวมากกว่าปกติ ดังนั้น เมื่อมีแสงส่องผ่านกระจกตาเข้ามา จุดรวมแสงจึงไปตกที่ด้านหน้าของจอประสาทตา ก่อนถึงจุดรับภาพ ทำให้คนที่มีสายตาสั้นมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลออกไปได้ไม่ชัด 

               อาการของคนที่มีสายตาสั้น

    • มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลออกไปไม่ชัดเจน หรือภาพที่เห็นมีความเบลอ
    • ต้องใช้การเหล่ตาหรือหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดตา

               สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสายตาสั้น

    • พันธุกรรม โดยสายตาสั้นเป็นปัญหาเรื่องสายตาที่ส่งต่อกันมาในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น หากพ่อหรือแม่เพียงแค่คนใดคนหนึ่งมีภาวะสายตาสั้น ความเสี่ยงที่ลูกจะมีสายตาสั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น และยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากพ่อและแม่มีสายตาสั้นทั้งคู่ ทั้งนี้ ในเด็กผู้หญิงจะพบปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวมากกว่าในเด็กผู้ชาย
    • การที่พันธุกรรมทำให้สายตาสั้น เป็นเพราะความโค้งของกระจกตาหรือความยาวของลูกตาที่ผิดปกตินั้นถูกส่งต่อกันมาในครอบครัว ดังนั้น เด็กทารกจึงสามารถมีสายตาสั้นตั้งแต่แรกเกิดได้
    • การทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาเพ่งมองใกล้ ๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาสั้น
    • การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป โดยผลการศึกษาพบว่า เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนนาน ๆ มีความเสี่ยงที่จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
    • สภาพแวดล้อม โดยบางผลการศึกษาบอกว่า คนที่ไม่ค่อยใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น

    สายตายาวแต่กำเนิด

               สายตายาวแต่กำเนิด (Farsightedness) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยหรือแบนกว่าปกติ ทำให้แสงที่เดินทางผ่านกระจกตาเกิดการหักเหน้อยลง รวมถึงขนาดของลูกตาที่มีความสั้นมากเกินไป ทำให้ระยะระหว่างกระจกตาไปจนถึงจอประสาทตามีความสั้นมากกว่าปกติ ดังนั้น เมื่อมีแสงส่องผ่านกระจกตาเข้ามา จุดรวมแสงจึงไปตกที่ด้านหลังของจอประสาทตา เลยจุดรับภาพออกไป ทำให้คนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ไม่ชัด

               อาการของคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิด

    • หากเกิดในเด็กเล็กที่ค่าสายตายังไม่มาก อาจไม่มีอาการปรากฏให้เห็น
    • เห็นภาพมัว มองไม่ชัด
    • ชอบหยีตา หรือเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ
    • ชอบขยี้ตา
    • ปวดศีรษะ 
    • ปวดตา ตาล้า
    • หากเกิดในเด็กที่มีค่าสายตายาวโดยกำเนิดสูง ๆ อาจทำให้เด็กตาเขหรือตาเหล่

               สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสายตายาวแต่กำเนิด

               สายตายาวแต่กำเนิดเกิดจากความโค้งของกระจกตาหรือความยาวของลูกตาที่ผิดปกติ ซึ่งความผิดปกตินี้เป็นพันธุกรรมที่ส่งต่อกันมาในครอบครัว หากพ่อหรือแม่ มีสายตายาวแต่กำเนิด ลูกก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสายตายาวแต่กำเนิดมากขึ้น

    สายตายาวตามอายุ

               สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) เป็นปัญหาสายตาซึ่งเกิดจากการที่ความสามารถในการเพ่งลดลง เมื่อเรามองวัตถุที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อรอบกระจกตาจะหดตัว ทำให้เลนส์ตาพองขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนจุดโฟกัส แต่อายุที่มากขึ้นทำให้เลนส์ตาแข็งขึ้นและมีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ไม่สามารถพองได้เหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับกล้ามเนื้อตาเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถหดตัวได้ดีดังเดิม เมื่อมีแสงส่องผ่านกระจกตาเข้ามา จุดรวมแสงจึงไม่ตกไปยังจุดรับภาพที่จอประสาทตาพอดี ทำให้ผู้สูงวัยที่มีสายตายาวตามอายุมองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ได้ไม่ชัด

               อาการของคนที่มีสายตายาวตามอายุ

    • มองเห็นไม่ชัดในระยะใกล้ ไม่สามารถอ่านตัวหนังสือขนาดเล็กได้ 
    • ปวดศีรษะ 
    • ปวดตา แสบตา ตาล้า รู้สึกไม่สบายตา
    • มองเห็นภาพซ้อน 
    • ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ หรือเกิดอาการแสบตาเมื่อต้องเจอแสงจ้า
    • มองเห็นตอนกลางคืนไม่ชัด หรือมองได้อย่างยากลำบาก

               สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสายตายาวตามอายุ

               สายตายาวตามอายุมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายจึงเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้เลนส์ตาแข็งขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง และกล้ามเนื้อตามีความอ่อนล้า

    สายตาเอียง

               สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดปกติ หรือมีความโค้งไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น เมื่อมีแสงส่องผ่านกระจกตาเข้ามา แสงจะหักเหผิดพลาด ทำให้เกิดจุดรวมแสงมากกว่า 1 จุด และไม่ตกไปยังจุดรับภาพที่จอประสาทตาพอดี

               อาการของคนที่มีสายตาเอียง

    • ปวดตา ปวดกระบอกตา ตาล้า
    • ปวดศีรษะ ปวดหัวคิ้ว อาจลามไปถึงขมับและท้ายทอย 
    • การมองเห็นพร่ามัว เบลอ ไม่ชัดเจน 
    • เห็นภาพมีเงาลาง ๆ เกิดเป็นเงาซ้อน และภาพที่เห็นบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง
    • มักใช้การเพ่งหรือการหรี่ตามองโดยไม่รู้ตัว 
    • ตาไม่สู้แสง เมื่อเจอแสงแดดหรือแสงที่จ้ามาก ๆ จะแสบตา น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น
    • มองเห็นตอนกลางคืนไม่ชัดมากกว่าตอนกลางวัน 
    • เห็นแสงจากดวงไฟฟุ้งเป็นเส้น คล้ายดาวกระจาย โดยเฉพาะแสงจากดวงไฟที่เห็นในตอนกลางคืน
    • ไม่สามารถแยกตัวอักษร ตัวหนังสือ และตัวเลขบางตัวได้ 

               สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสายตาเอียง

    • ความผิดปกติของกระจกตาที่เป็นมาแต่กำเนิด
    • ประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
    • การผ่าตัดรักษาดวงตา
    • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น คนที่ตาเหล่ คนที่มีรอยแผลที่กระจกตา คนที่เป็นโรคกระจกตาย้วย ซึ่งส่งผลให้กระจกตาผิดรูปไป กลายเป็นรูปทรงกรวย

    วิธีแก้ไขหรือป้องกันการเกิดปัญหาสายตา

               วิธีแก้สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง สามารถทำได้โดยการใส่แว่นสายตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ลักษณะของเลนส์ที่ใช้ในการตัดแว่น ทั้งนี้ การเลือกวิธีที่ใช้แก้ไขปัญหาสายตาแต่ละอย่าง จะต้องพิจารณาถึงข้อดี ข้อจำกัด และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเลือกวิธีที่ตรงตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้มีปัญหาสายตาต่อไป

    ใส่แว่นสายตา

               การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาทางสายตาที่ง่ายและปลอดภัย จึงเหมาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงวัยที่ไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ หรือในผู้ที่มีข้อจำกัดบางประการจึงทำให้ไม่สามารถทำเลสิกได้

               ข้อดีของการใส่แว่นสายตา

    • เป็นวิธีที่ง่าย เพราะสามารถปรับการมองเห็นให้ชัดเจนได้เพียงแค่สวมแว่นเข้าไป
    • มีความปลอดภัยสูง เพราะไม่ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อจากความไม่สะอาดเหมือนกับการใส่คอนแทคเลนส์
    • ไม่เจ็บตัว เพราะไม่ต้องผ่าตัดเหมือนการทำเลสิก
    • ประหยัดและคุ้มค่า เมื่อเทียบราคาและอายุการใช้งานของแว่นกับวิธีแก้ปัญหาสายตาอื่น ๆ
    • สามารถเลือกเลนส์เป็นเลนส์เปลี่ยนสีหรือเลนส์กรองแสง เพื่อช่วยในการรักษาสุขภาพของสายตา

               ข้อจำกัดของการใส่แว่นสายตา

    • ต้องถอดแว่นเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น อาบน้ำหรือนอนหลับ ทำให้ชั่วขณะนั้นจะมองเห็นภาพไม่ชัด
    • หากไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บแว่น อาจทำให้เลนส์ถูกขูดขีดเป็นรอย หรือตกแตกหักได้รับความเสียหาย
    • ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสวยงาม
    • หากแว่นเป็นฝ้าหรือมีหยดน้ำเกาะก็จะทำให้มองเห็นไม่ถนัด
    • ไม่สามารถสวมแว่นสายตาในการทำงานบางอาชีพ รวมถึงไม่สะดวกต่อการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬาทางน้ำ กีฬาที่มีความผาดโผน กีฬาจำพวกศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว

    ใส่คอนแทคเลนส์

               การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นวิธีแก้ปัญหาสายตาที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งอาจจะไม่ชอบการใส่แว่นสายตาให้เกะกะ และทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไป แต่การจะใส่คอนแทคเลนส์ได้ต้องมีการตรวจวัดค่าสายตาอย่างละเอียดก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้คอนแทคเลนส์ที่สวมใส่แล้วสบายตา โดยคอนแทคเลนส์สามารถหาซื้อได้ง่าย มีค่าสายตาบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายทั้งในแง่ของประเภท ราคา และอายุการใช้งาน ทั้งนี้ การซื้อคอนแทคเลนส์ควรจะซื้อแบบที่มียี่ห้อและซื้อจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย

               ข้อดีของการใส่คอนแทคเลนส์

    • การใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้มองเห็นชัดกว่าการใส่แว่นสายตา
    • ไม่ถูกจำกัดการมองเห็นด้วยกรอบแว่น
    • ไม่ทำให้ภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของผู้สวมใส่เปลี่ยนไป สามารถใส่แว่นกันแดดหรือแว่นอื่น ๆ เพื่อความสวยงามได้
    • มีความสะดวกและคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเล่นกีฬา
    • หากทราบค่าสายตาของตนเอง ก็จะสามารถหาซื้อคอนแทคเลนส์ที่ต้องการได้ตามร้านทั่วไปหรือสั่งออนไลน์

               ข้อจำกัดของการใส่คอนแทคเลนส์

    • ต้องมีการใส่ – และถอดคอนแทคเลนส์ทุกวัน หากถอดออกก็จะทำให้มองเห็นไม่ชัดดังเดิม บางคนจึงยังต้องใส่คอนแทคเลนส์สลับกับการใส่แว่นสายตา
    • ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันนานเกินไป
    • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นอนหลับ
    • ต้องระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดเป็นอย่างมาก เพราะการใส่คอนแทคเลนส์เสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาอักเสบและดวงตาติดเชื้อมากกว่าการใส่แว่น
    • คอนแทคเลนส์มีวันหมดอายุ หากคอนแทคเลนส์หมดอายุ ทำตก หรือฉีกขาด ก็ไม่ควรนำมาใส่อีก
    • หากเป็นคอนแทคเลนส์แบบพิเศษ เช่น คอนแทคเลนส์ที่มีทั้งค่าสายตาสั้นและค่าสายตาเอียง อาจจะไม่มีวางขายทั่วไป แต่จะต้องสั่งเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ต้องการ จึงต้องใช้เวลาในการรอ 
    • การใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้ตาแห้ง ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ

    การทำเลสิกสายตา

               การทำเลสิกมีทั้งเลสิกสายตาสั้น เลสิกสายตายาว และเลสิกสายตาเอียง ซึ่งวิธีการทำก็จะแตกต่างกันไปตามเทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้ แต่โดยหลักแล้วการทำเลสิกก็คือการใช้เลเซอร์ยิงเข้าไปในลูกตา เพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระจกตาเหมือนกัน ซึ่งการทำเลสิกก็เป็นการแก้ปัญหาและเป็นการรักษาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงที่ทำเพียงครั้งเดียวก็สามารถแก้ทุกปัญหาสายตา และเห็นผลลัพธ์อย่างถาวร ทั้งนี้ การจะเลือกว่าควรทำเลสิกที่ไหนดี? จะต้องเลือกโรงพยาบาลที่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาครบทุกข้อ

               ข้อดีของการทำเลสิก

    • เป็นการผ่าตัดรักษาเพียงครั้งเดียว แต่แก้ทุกปัญหาสายตาอย่างถาวร
    • ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นไม่นาน
    • มีให้เลือกหลายเทคนิค
    • หลังทำเลสิกแล้ว จะไม่ต้องสวมแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์อีกต่อไป 
    • สามารถประกอบอาชีพบางอาชีพที่ห้ามใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์
    • เพิ่มความคล่องตัวและความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
    • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตาและภาวะแทรกซ้อนในดวงตาจากความไม่สะอาดของคอนแทคเลนส์

               ข้อจำกัดของการทำเลสิก

    • คนที่มีข้อจำกัดบางประการจะไม่สามารถทำเลสิกได้
    • หลังการผ่าตัดทำเลสิก ในช่วงแรกอาจมีภาวะตาแห้ง
    • มีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาติดเชื้อ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก ๆ
    • มีค่าใช้จ่ายสูงหากเทียบกับวิธีแก้ปัญหาสายตาอื่น ๆ

    การรักษาปัญหาสายตาด้วยเลสิก 

    การทำเลสิกแก้ปัญหาสายตา
    ขอบคุณรูปภาพจาก : ahaliaeyecare.com

               เทคนิคและวิธีการทำเลสิกแต่ละประเภท ก็จะเหมาะสมกับปัญหาสายตาที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเทคนิคและวิธีการที่ใช้ทำเลสิกมีดังนี้

    • Microkeratome LASIK

               เลสิก (Laser-Assisted in Situ Keratomileusis : LASIK) คือ การใช้ใบมีดอัตโนมัติจากเครื่อง Microkeratome แยกชั้นกระจกตา แล้วใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงเข้าไปในดวงตา เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้ได้ค่าตามที่ต้องการ 

               การทำเลสิก (LASIK) สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้ทั้ง 4 แบบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาหนาเพียงพอ มีค่าสายตาคงที่ และไม่มีข้อจำกัดที่จะทำให้ทำเลสิก (LASIK) ไม่ได้

               เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) คือ การใช้แสงเลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser แยกชั้นกระจกตา แล้วใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงเข้าไปในดวงตา เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้ได้ค่าตามที่ต้องการ  

               การทำเฟมโตเลสิก (Femto LASIK) สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้ทั้ง 4 แบบ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์อีกต่อไป และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีภาวะตาแห้งรุนแรง ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไทรอยด์เป็นพิษ 

    • PRK (Photorefractive Keratectomy)

               พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy : PRK

    ) คือ การลอกเยื่อบุผิวบนกระจกตาชั้นนอกออก แล้วใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงเข้าไปในดวงตา เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้ได้ค่าตามที่ต้องการ วิธีนี้จะไม่ต้องทำการแยกชั้นกระจกตา

               การทำพีอาร์เค (PRK) สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้ทั้ง 4 แบบ แต่ต้องไม่มีค่าสายตาสั้นและค่าสายตายาว รวมถึงค่าสายตาเอียงมากเกินไป ซึ่งวิธีนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบาง มีภาวะตาแห้ง รวมถึงผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพทหาร ตำรวจ และนักบิน

               รีแลกซ์ (Relex) คือ การใช้เลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser แยกชั้นกระจกตาโดยไม่มีฝา จากนั้นจึงตัดและนำกระจกตาส่วนเกินออกในลักษณะ Lenticule ทางช่องแผลขนาดเล็กที่เปิดไว้

               การทำรีแลกซ์ (Relex) สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้เพียงสายตาสั้นและสายตาเอียง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสายตายาวได้

               ไอซีแอล (Implantable Collamer Lens : ICL) คือ การใส่เลนส์เสริมชนิดถาวรเข้าไปในดวงตา บริเวณหลังม่านตาหรือบริเวณหน้าเลนส์แก้วตา โดยไม่ต้องนำเลนส์แก้วตาที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติออก 

               การใส่เลนส์เสริม ICL  สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้ทั้ง 4 แบบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงมาก ๆ เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสายตาเหล่านี้ได้ด้วยการทำเลสิกวิธีอื่น

    การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสายตา

               ปัญหาสายตาที่เกิดจากความผิดปกติซึ่งเป็นแต่กำเนิดหรือเป็นตามอายุที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ปัญหาสายตาที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถใช้วิธีการถนอมดวงตาและบำรุงสายตาเพื่อป้องกันได้ ที่สำคัญคือ หากทำตามวิธีการเหล่านี้ ก็จะช่วยชะลอไม่ให้ปัญหาสายตาที่เป็นอยู่แย่ลงไปมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่ทำเลสิกมาแล้ว เพราะหากไม่ดูแลดวงตาดี ๆ ก็อาจทำให้กลับมามีปัญหาสายตาอีกครั้ง

    • ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การเล่นสมาร์ทโฟน การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การดูทีวี 
    • ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาต่าง ๆ ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เช่น หากต้องการอ่านหนังสือหรือทำการบ้านในตอนกลางคืน ก็ต้องเปิดไฟในห้องให้สว่าง อาจใช้วิธีวางโคมไฟไว้ที่หัวเตียงหรือที่โต๊ะอ่านหนังสือเพิ่ม เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอ
    • เพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมนอกบ้านหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เช่น การเดินเล่นหรือการออกกำลังกาย
    • หมั่นพักสายตาเป็นระยะ ตามกฎ 20 – 20 – 20 คือ ทุก 20 นาที ให้มองออกไปไกล 20 ฟุต เป็นระยะเวลา 20 วินาที
    • ตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้จะเป็นเด็กก็ต้องพามาตรวจ เพราะหากเด็กมีภาวะสายตายาวแต่กำเนิด ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคทางตา เช่น โรคต้อกระจก
    • รับประทานอาหารที่มีวิตามินช่วยบำรุงสายตา ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ (Vitamin A) วิตามินซี (Vitamin C) วิตามินอี (Vitamin E) และวิตามินดี (Vitamin D)
    • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์
    • หากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ต้องหมั่นไปพบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ร้ายแรงจนส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

    สรุปปัญหาสายตา

               ปัญหาสายตามีทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง บางปัญหาเป็นมาตั้งแต่กำเนิดจากพันธุกรรม หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่สามารถควบคุมได้ แต่บางปัญหาก็เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือควบคุมไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่าเดิม ทั้งนี้ ปัญหาสายตาต่าง ๆ สามารถแก้ไขหรือรักษาให้กลับมามีการมองเห็นที่ชัดเจนได้ ด้วยการใส่แว่นสายตา การใส่คอนแทคเลนส์ หรือการทำเลสิก ที่สำคัญคือ อย่าลืมดูแลและถนอมสุขภาพดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาสายตานำไปสู่โรคตาหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในอนาคต

    เอกสารอ้างอิง

    Mayo Clinic Staff, (2022, September 16). Nearsightedness. Mayoclinic.
    https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nearsightedness/symptoms-causes/syc-20375556