โรคตาพบบ่อย สังเกตอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาแบบไม่รู้ตัว

โรคตามีทั้งโรคที่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น และโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น อย่างไรก็ตามควรดูแลรักษาสุขภาพดวงตาให้แข็งแรง รวมถึงตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อป้องกันอันตรายหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว อ่านบทความนี้ ทำความรู้จัก 12 โรคตาใกล้ตัวกันเลย

สารบัญบทความ

    โรคตาพบบ่อยมีอะไรบ้าง

    โรคตาพบบ่อย นอกจากตาแห้ง มีอะไรบ้าง

    โรคตา มีอะไรบ้าง? มาทำความรู้จักโรคตาใกล้ตัวในทุกแง่มุม ทั้งสาเหตุ อาการ และการรักษา เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคตาที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาของเรา

    1. ปัญหาทางสายตา

    ปัญหาทางสายตา คือ โรคตาหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำให้การมองเห็นพร่ามัวหรือมองเห็นไม่ชัด โดยสามารถแบ่งปัญหาสายตาออกเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง

    • สาเหตุ 
      • สายตาสั้น เกิดจากกระจกตาที่มีความโค้งมากเกินไป รวมถึงมีขนาดลูกตาที่ยาวเกินไป 
      • สายตายาว เกิดจากกระจกตาที่แบน และขนาดลูกตาที่สั้นเกินไป ทำให้การหักเหแสงลดน้อยลง 
      • สายตาเอียง เกิดจากรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการหักเหแสง เกิดตำแหน่งโฟกัสมากกว่าหนึ่งจุด
    • อาการ 
      • สายตาสั้น มีอาการมองเห็นในระยะใกล้ชัด แต่มองเห็นในระยะไกลไม่ชัด 
      • สายตายาว ลักษณะอาการจะแตกต่างจากสายตาสั้น นั่นก็คือ การมองเห็นในระยะใกล้ไม่ชัด แต่มองเห็นในระยะไกลชัด
      • สายตาเอียง มีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพเบลอหรือเป็นเงาซ้อน เห็นแสงกระจายในตอนกลางคืน รวมถึงมีอาการปวดศีรษะ ปวดตาร่วมด้วย 
    • การรักษา
      • วิธีการรักษาโรคตาอย่างสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง สามารถรักษาได้ทั้งวิธีไม่ต้องผ่าตัด และวิธีผ่าตัด โดยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด สามารถสวมแว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น 
      • ส่วนใครที่ต้องการแก้ปัญหาสายตาอย่างถาวร สามารถเข้ารับการรักษาโรคตาดังกล่าวด้วยการผ่าตัด เช่น การทำเลสิก, Femto LASIK, PRK, ReLEx และอื่น ๆ อีกมากมาย 

    2. ต้อกระจก

    ต้อกระจก (Cataract) คือ โรคตาที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา เป็นหนึ่งในโรคต้อที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป

    • สาเหตุ 
      • ต้อกระจก เกิดจากหลายปัจจัย นอกจากปัจจัยด้านอายุแล้ว สามารถเกิดจากกรรมพันธุ์ การเผชิญกับรังสียูวีเป็นระยะเวลานาน การใช้ยา รวมถึงการมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
    • อาการ 
      • ต้อกระจก อาการมีลักษณะขุ่นมัวที่ตาดำ ทำให้มองเห็นพร่ามัว เหมือนมีหมอกควันบดบังสายตา รวมถึงมีอาการตาไม่สู้แสง เห็นภาพซ้อน และมองเห็นแสงกระจายในตอนกลางคืน
    • การรักษา
      • วิธีรักษา ต้อกระจก สามารถทำได้ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคตาชนิดนี้ กรณีที่เป็นต้อกระจกในระยะเริ่มต้น สามารถสวมแว่น เพื่อช่วยการมองเห็นให้ชัดมากยิ่งขึ้น ส่วนวิธีรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เทียม 

    3. ต้อหิน

    ต้อหิน (Glaucoma) คือ ต้อชนิดที่อันตรายที่สุดในบรรดา 4 ต้อ เนื่องจากเป็นโรคตาที่สามารถพรากการมองเห็นหรือตาบอดได้ 

    • สาเหตุ 
      • ต้อหินเป็นความผิดปกติของเส้นประสาทตา เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ หรือ อายุที่มากขึ้น  มีปัจจัยเสี่ยง คือ ความดันตาสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการอุดตันของท่อระบายน้ำในลูกตา นำไปสู่การทำลายขั้วประสาทตาที่ทำให้การมองเห็นถูกบีบแคบลงเรื่อย ๆ 
    • อาการ 
      • ต้อหินเป็นโรคตาที่นับว่า เป็นภัยเงียบ เพราะไม่แสดงอาการให้เห็น กว่าผู้ป่วยจะสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น มักเป็นในระยะรุนแรงแล้ว
    • การรักษา
      • ต้อหิน รักษาไม่หายขาด การรักษาเป็นเพียงการชะลอความรุนแรง โดยมุ่งเน้นกับการลดความดันในลูกตา สามารถรักษาด้วยการใช้ยาหยอด การเลเซอร์และการผ่าตัด 

    4. ต้อลม

    ต้อลม (Pinguecula) สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่เราคิด ควรรู้สาเหตุ เพื่อหลีกเลี่ยง และป้องกันการเกิดโรคตาชนิดนี้

    • สาเหตุ 
      • เกิดจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ รวมถึงฝุ่นควัน มลภาวะเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
    • อาการ 
      • ต้อลมมีลักษณะอาการเพียงรอยนูนสีเหลืองที่บริเวณเยื่อบุตาขาว เป็นโรคตาที่ไม่เป็นอันตรายต่อการมองเห็น
    • การรักษา
      • ในกรณีที่มีอาการระคายเคือง สามารถใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการปะทะกับสาเหตุการเกิด

    5. ต้อเนื้อ

    ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นโรคตาที่พัฒนามาจากต้อลม ต้องรีบดูแล และยับยั้งการพัฒนาความรุนแรง ไม่ให้ลุกลามเข้าบริเวณตาดำ

    • สาเหตุ 
      • สาเหตุการเกิดเดียวกับต้อลม คือ การปะทะกับรังสียูวี ฝุ่น ควันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดอาการระคายเคือง อักเสบเรื้อรัง ทำให้ต้อลมพัฒนากลายเป็นต้อเนื้อ
    • อาการ 
      • ลักษณะอาการมีแผ่นเนื้อเยื่อสีแดงอ่อนเกิดขึ้นบริเวณหัวตา และมีอาการระคายเคือง ตาแดง แสบตาร่วมด้วย
    • การรักษา
      • หากเป็นต้อเนื้อในระยะเริ่มต้น ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคตานี้ เพื่อยับยั้งไม่ให้ขนาดใหญ่ขึ้น และเมื่อต้อเนื้อลุกลามเข้าตาดำ เริ่มบดบังการมองเห็น สามารถผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกได้

    6. จอประสาทตาเสื่อม

    จอประสาทตาเสื่อม คือ โรคตาที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น ควรตรวจตาเป็นประจำ เพื่อหาความผิดปกติ และเข้ารับการรักษาในทันที

    • สาเหตุ 
      • นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมแล้ว ยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรม เชื้อชาติ เพศ การมีโรคประจำตัว และปัจจัยอื่น ๆ 
    • อาการ 
      • จอประสาทตาเสื่อมมีลักษณะอาการมองเห็นภาพไม่ชัด เห็นสีเพี้ยน มองเห็นจุดดำที่กึ่งกลางการมองเห็น โดยลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
    • การรักษา
      • โรคจอประสาทตาเสื่อม ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การรักษาเป็นเพียงการชะลอ และยับยั้งความรุนแรงของอาการเพียงเท่านั้น ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    7. ตาขี้เกียจ

    ตาขี้เกียจหรือ lazy eye คือ โรคตาที่ความสามารถในการมองเห็นลดลง มักพบในวัยเด็ก พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก หากพบความผิดปกติ สามารถเข้ารับการรักษาได้ในทันที

    • สาเหตุ 
      • เกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้การมองเห็นในเด็กผิดปกติไป เช่น โรคต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ค่าสายตาผิดปกติในเด็กที่ไม่ได้รับการแก้ไข ตาเขตาเหล่ หรือโรคทางตาอื่น ๆ ที่กระทบการมองเห็น 
    • อาการ 
      • เมื่อเป็นตาขี้เกียจ จะเกิดอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด จากการที่ตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานกัน สามารถเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
    • การรักษา
      • วิธีรักษาตาขี้เกียจจะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นฝึกพัฒนาการมองเห็นดวงตาข้างที่มีอาการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ผ่าตัด 

    8. ตาแห้ง

    ตาแห้ง คือ โรคตาที่หลายคนพบเจอ สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้

    • สาเหตุ 
      • สามารถเกิดได้จากระบบร่างกายทำงานผิดปกติ การใช้ยา และสามารถเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้สายตา เช่น การจ้องหน้าจอสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป
    • อาการ 
      • มีอาการตาแดง แสบตา ระคายเคืองตา น้ำตาไหลมากผิดปกติ รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา 
    • การรักษา
      • กรณีที่อาการตาแห้งไม่รุนแรง สามารถใช้น้ำตาเทียมบรรเทาอาการได้ และเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ แต่หากมีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา

    9. เบาหวานขึ้นตา

    เบาหวานขึ้นตาหรือโรคตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หากไม่ดูแลรักษา อาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็น

    • สาเหตุ 
      • เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดในจอตา 
    • อาการ 
      • เบาหวานขึ้นตา มักไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะแรก แต่ผู้ป่วยมักรู้ตัวว่า มีภาวะเบาหวานขึ้นตา เมื่ออยู่ในระยะรุนแรงแล้ว หากเริ่มเห็นความผิดปกติ เช่น จุดสีดำ ตาพร่ามัว ควรเข้าพบแพทย์
    • การรักษา
      • หากอยู่ในระยะเริ่มต้น ดูแลอาการด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ในกรณีระยะรุนแรง สามารถรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ ฉีดยาหรือผ่าตัดวุ้นตา

    10. ไทรอยด์ขึ้นตา

    ไทรอยด์ขึ้นตา เป็นสาเหตุของอาการตาโปน อาจมีความเกี่ยวข้องกับไทรอยด์เป็นพิษหรือไม่ก็ได้ 

    • สาเหตุ 
      • เกิดจากภูมิต้านทานต่อต่อมไทรอยด์ที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะรอบดวงตา โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคตานี้ เช่น เพศหญิง มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ควบคุมโรคไทรอยด์ไม่ได้ 
    • อาการ 
      • เกิดลักษณะตาโปน เปลือกตาบวมแดง ตาแห้ง  ตาเขตาเหล่ มองเห็นไม่ชัด
    • การรักษา
      • วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ และรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด

    11. ตาอักเสบ

    โรคตาอักเสบ สามารถแบ่งออกเป็นเยื่อบุตาอักเสบ และเปลือกตาอักเสบ โดยสาเหตุ อาการจะแตกต่างกันออกไป

    • สาเหตุ 
      • เยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ดวงตาติดเชื้อ ภูมิแพ้ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
      • เปลือกตาอักเสบ เกิดจากต่อมไขมันอุดตัน ติดเชื้อ อาการแพ้ ไรขนตา 
    • อาการ 
      • เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ระคายเคือง ตาแฉะ 
      • เปลือกตาอักเสบ มีอาการเปลือกตาบวมแดง ตามัว แสบตา ตาแดง ตาแห้ง ตาแฉะ
    • การรักษา
      • โรคตาทั้งสองโรคนี้ สามารถหายไปได้เอง สามารถบรรเทาอาการด้วยหยอดน้ำตาเทียมหรือการประคบ หากมีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

    12. ตาเหล่ ตาเข

    ตาเหล่ ตาเข เป็นโรคตาที่เกิดจากความผิดปกติจากกล้ามเนื้อตา สมอง และเส้นประสาท ทำให้ทิศทางการมองของตาดำทั้งสองข้างแตกต่างกัน 

    • สาเหตุ 
      • เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ปัญหาค่าสายตา การทำงานของเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อตาผิดปกติ รวมถึงการใช้สายตามากเกินไป 
    • อาการ 
      • สามารถสังเกตเห็นอาการตาเหล่ ตาเขได้ด้วยตาเปล่า และมีอาการเห็นภาพซ้อน ไม่สามารถโฟกัสได้ รวมถึงอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
    • การรักษา
      • วิธีรักษาโรคตานี้ แตกต่างตามสาเหตุการเกิด หากเกิดจากการมีค่าสายตาผิดปกติ สามารถสวมแว่นสายตาได้ ส่วนในกรณีที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด

    วิธีดูแลสุขภาพตาให้ห่างไกลโรค

    1. พักการใช้สายตาบ้าง
      • เมื่อใช้สายตาอย่างหนักหรือใช้สายตาทำงานจ้องหน้าจออิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลานาน ควรหมั่นพักสายตาด้วยการมองไปที่ไกล ๆ ประมาณ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที ครั้งละ 20 วินาที และควรกะพริบตาอยู่เสมอ ป้องกันอาการตาแห้ง
    2. ใส่แว่นปกป้องดวงตาจากแสง
      • เมื่อต้องออกสถานที่แจ้ง ควรสวมแว่นตา เพื่อป้องกันการทำลายจากรังสียูวีที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคตาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก 
    3. เลี่ยงการขยี้ตา
      • พฤติกรรมการถูขยี้ตา นอกจากเป็นการนำเชื้อโรคที่มือเข้าสู่ดวงตา เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ยังสามารถทำให้ผิวหนังรอบดวงตาเกิดรอยเหี่ยวย่น และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอีกด้วย
    4. ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดวงตา
      • เมื่อเกิดอาการผิดปกติขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี ไม่ควรซื้อยารักษาโรคตาใช้เอง เพราะยาบางชนิดจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์

    ป้องกันการเกิดโรคด้วยการตรวจเช็กสุขภาพตา

    นอกจากการดูแลสุขภาพดวงตาข้างต้นแล้ว การป้องกันดวงตาให้ห่างไกลจากโรคตาต่าง ๆ คือ การเข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี หากเจอความผิดปกติ จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากโรคตาบางโรคอย่างต้อหิน เบาหวานขึ้นตา มักไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก กว่าจะรู้ตัวอาจอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว

    FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคตา

    ร่วมไขข้อสงสัย คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับโรคตาได้ ดังต่อไปนี้ 

    โรคตาที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคอะไรบ้าง

    โรคตาที่มักพบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคตาที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของอวัยวะในร่างกาย รวมถึงเกิดจากการมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคตาเป็นอาการแทรกซ้อน เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ปัญหาสายตายาว และอื่น ๆ อีกมากมาย 

    โรคทางกายที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา มีโรคอะไรบ้าง

    โรคทางกายที่ส่งผลกระทบต่อดวงตามีด้วยกันหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ และอื่น ๆ สามารถก่อให้เกิดโรคตาที่อาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง จึงมีความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพดวงตา

    ข้อสรุปเกี่ยวกับโรคตา

    โรคตาสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยด้านสุขภาพของเรา และปัจจัยภายนอก โดยโรคตาเกิดขึ้นง่ายกว่าที่เราคิด เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ ปัญหาสายตา ตาแห้ง ควรดูแลรักษาสุขภาพดวงตาให้แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายต่อการมองเห็น รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายของเรา เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้

    เอกสารอ้างอิง

    Glaucoma. (n.d.). clevelandclinic.
    https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4212-glaucoma

    Kierstan Boyd. What Is a Pinguecula and a Pterygium (Surfer’s Eye) ?. (2022, September 23). AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
    https://www.aao.org/eye-health/diseases/pinguecula-pterygium 

    Lori M. King. What Is Pterygium (Surfer’s Eye)?. (2024, February 13). WebMD.
    https://www.webmd.com/eye-health/pterygium-surfers-eye 

    Thyroid Eye Disease. (n.d.). clevelandclinic.
    https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17558-thyroid-eye-disease