ท่อน้ำตาอุดตัน สาเหตุอาการน้ำตาไหลตลอด เป็นภาวะที่ไม่ควรมองข้าม

น้ำตาไหลตลอดเวลา ไม่ได้เกี่ยวกับความรู้สึกเศร้าเสมอไป เพราะอาการนี้อาจมีสาเหตุมาจากท่อน้ำตาอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ และไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าปล่อยเอาไว้อาจทำให้เกิด ตาอักเสบ ตาพร่ามัว รวมถึงเป็นปัญหากวนใจในการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก

สารบัญบทความ

    ท่อน้ำตาอุดตัน คืออะไร ทำไมน้ำตาถึงไหลตลอด ?

    ท่อน้ำตาอุดตัน คือภาวะที่ทางระบายน้ำตาถูกปิดกั้นหรือมีการอุดตันขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีต่อมน้ำตาที่ผลิตขึ้นเพื่อเคลือบพื้นผิวของดวงตา และจะไหลลงรูระบายน้ำตาที่บริเวณหัวตาด้านล่าง โดยทางระบายน้ำตานี้จะเชื่อมไปยังถุงน้ำตา พร้อมทั้งถูกส่งต่อไปยังโพรงจมูก และเมื่อมีการอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะท่อน้ำตาตันไม่สามารถระบายออกได้ตามธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำตาไหล และอาการข้างเคียงของท่อน้ำตาอุดตันอีกมากมายตามมา

    ท่อน้ำตาอุดตันมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

    สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อน้ำตาอุดตัน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แบ่งออกเป็นหลายปัจจัย ประกอบไปด้วย

    • การใช้ยาหยอดตาเป็นเวลานาน 
    • ช่องทางระบายน้ำตาตีบลงเนื่องจากอายุมากขึ้น
    • การเกิดหินปูนในท่อน้ำตา ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ไปอุดทางระบายของท่อน้ำตาได้เช่นเดียวกัน
    • การอักเสบของไซนัสเรื้อรัง หรือมีประวัติเนื้องอกในช่องจมูก ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดท่อน้ำตาอุดตันได้
    • ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ เช่น การกระแทกบริเวณสันจมูกหรือหัวตา อาจทำให้เกิดการกดทับท่อน้ำตา เป็นผลทำให้ท่อน้ำตาอุดตัน 
    • การติดเชื้อที่บริเวณดวงตา เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมของเนื้อเยื่อแผล ซึ่งในบางครั้งอาจไปปิดทับทางระบายน้ำตา 
    • ท่อน้ำตาอุดตัน ทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน เกิดจากพังผืดในท่อน้ำตายังไม่เปิด ส่งผลให้น้ำตาเอ่อในลูกตาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่อน้ำตาอุดตัน อาการในเด็กทารกจะหายเองได้ตามธรรมชาติ

    อาการที่แสดงถึงภาวะท่อน้ำตาอุดตัน

    อาการที่เด่นชัดของคนที่เป็นท่อน้ำตาอุดตัน นั้น สามารถสังเกตเองได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว
    ผู้ป่วยมักจะมีอาการบ่งชี้ ดังต่อไปนี้

    • น้ำตาไหลตลอดเวลา
    • มีอาการตาแดง มีขี้ตามาก
    • ตาอักเสบ หรือมีการติดเชื้อ
    • หัวตาบวม อาจมีอาการมองเห็นไม่ชัดร่วมด้วย

    การตรวจวินิจฉัยท่อน้ำตาอุดตัน

    สำหรับการวินิจฉัยอาการท่อน้ำตาอุดตัน  ผู้ป่วยสามารถที่จะทดสอบท่อน้ำตาอุดตัน อาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง ซึ่งการทดสอบต่อมน้ำตาอุดตันด้วยตัวเองมีวิธีการ คือ ลองนวดที่หัวตาข้างสันจมูก และวินิจฉัยน้ำตาที่อาจเป็นเมือกหรือเป็นขี้ตาทะลักออกมาบริเวณหัวตา

    หรือการเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยคือ 

    1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย พร้อมทั้งตรวจดวงตาและโพรงจมูก
    2. ตรวจภาวะการระบายน้ำตา ด้วยใช้สีย้อมพิเศษป้ายลงบริเวณดวงตาของผู้ป่วย เพื่อหาสีตกค้างหรือภาวะท่อน้ำตาตัน
    3. ตรวจดูการอุดตันบริเวณด้านในโพรงจมูก ด้วยการสอดแท่งระบายท่อน้ำตาเข้าไปด้านใน
    4. เอกซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ CT scan เพื่อตรวจหาความผิดปกติของ ท่อน้ำตาบริเวณที่อุดตัน 

    แนวทางการรักษาท่อน้ำตาอุดตัน ในเด็กและผู้ใหญ่

    วิธีรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

    การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน  ในปัจจุบันนี้มีวิธีการรักษาหลายรูปแบบ โดยจะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ป่วยท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก และกลุ่มผู้ป่วยท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่ มีวิธีการรักษาคือ

    การรักษาท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก

    วิธีรักษาท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก จะใช้วิธีการนวดท่อน้ำตา เพื่อเปิดทางระบายน้ำตา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว 90% จะหายเป็นปกติ โดยมีวิธีการนวดคือ การนวดบริเวณหัวตาและรูดนิ้วมาบริเวณดั้งจมูก เพื่อเป็นการระบายทางของท่อน้ำตา ให้เยื่อที่ปิดกั้นระบายทะลุหรือขาดออก ทำให้สามารถระบายน้ำตาได้ และนอกจากวิธีการนวดท่อน้ำตาอุดตัน รักษาในเด็กอาจใช้วิธีเหล่านี้ร่วมด้วย

    • การแยงท่อน้ำตาบริเวณเปลือกตา 
    • ใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตาเพื่อเปิดทางระบาย 

    การรักษาท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่

    • การผ่าตัดท่อน้ำตาอุดตันแบบแผลนอก ซึ่งเป็นการนำกระดูกบางส่วนออกและสร้างทางระบายน้ำตาใหม่ เป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้รักษาแบบผ่าตัด
    • การผ่าตัดท่อน้ำตาแบบส่องกล้อง ถือเป็นการผ่าตัดแบบใหม่ ไม่ต้องเปิดแผลนอก ซึ่งเป็นการส่องกล้องเข้าไปในโพรงจมูก และทำการสร้างทางเชื่อมระบายน้ำตาเข้าไปใหม่ เพื่อแก้ปัญหาท่อน้ำตาอุดตัน

    สรุปแล้วท่อน้ำตาอุดตันอันตรายไหม

    ท่อน้ำตาอุดตัน ไม่ได้อันตรายถึงชีวิตโดยตรง แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นใครที่หากกำลังมองหาวิธีรักษาท่อน้ำตาอุดตัน แนะนำปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

    เอกสารอ้างอิง

    อังกฤษ : Blocked Tear Duct (Nasolacrimal Duct Obstruction).(n.d).Cleveland Clinic.
    https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17260-blocked-tear-duct-nasolacrimal-duct-obstruction