โรคติดต่อทางการสัมผัสอย่าง เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า โรคตาแดง ที่ใครหลายคนกลัว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด หากรู้จักป้องกันให้ถูกวิธี แล้วรู้กันไหมว่า การอักเสบที่เยื่อบุตา สามารถแบ่งออกได้ถึง 3 ประเภท โดยลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่เกิด อ่านบทความนี้ เรียนรู้ถึงสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน เพื่อห่างไกลโรคเยื่อบุตาอักเสบ
เยื่อบุตาอักเสบ คืออะไร
โรคเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของโรค ‘ตาแดง’ คือ อาการตาอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาว ทำให้บริเวณตาขาวเป็นสีแดง ซึ่งเป็นโรคตาที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น การไอจาม โดยไม่ปิดปากหรือปิดจมูก การใช้เครื่องสำอาง และสิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน
ลักษณะอาการเยื่อบุตาอักเสบ
ลักษณะอาการเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือตาแดง คือ เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง เยื่อบุตาบวม เกิดความรู้สึกระคายเคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา น้ำตาไหลมากผิดปกติ มีขี้ตาเหลือง และเหนียว รวมถึงเยื่อบุตาอักเสบ อาจมีอาการตาไม่สู้แสงร่วมด้วย โดยลักษณะอาการจะแตกต่างไปตามสาเหตุการเกิด
สาเหตุการเกิดตาอักเสบ
สาเหตุเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) สามารถแยกออกได้ทั้งหมด 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ และ เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้
เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ
- เยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย นอกจากจะทำให้เกิดอาการตาแดง เจ็บตาแล้ว มักก่อให้เกิดขี้ตาสีเหลือง เหนียวเกาะบริเวณขอบเปลือกตา ทำให้ยากต่อการเปิดปิดตา ตาติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส และสามารถเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- เยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส ก่อให้เกิดอาการตาอักเสบแดงมีขี้ตา น้ำตาไหล ตาแฉะ ขี้ตาเหลว รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา อีกทั้งสามารถเกิดขึ้นร่วมกับอาการไข้ และเจ็บคอ โดยเยื่อบุตาอักเสบชนิดนี้ สามารถแพร่กระจาย และติดต่อได้ผ่านการสัมผัส มักเกิดขึ้นกับดวงตาหนึ่งข้าง และแพร่กระจายไปอีกข้าง
- เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น Chlamydia และเชื้อปรสิตที่ปนเปื้อนจากน้ำอย่าง Acanthamoeba และ Microsporidia เป็นต้น
เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้
เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้ ก่อให้เกิดอาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวม ขี้ตาเป็นเมือก โดยอาการแพ้สามารถเกิดได้จากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- จากการแพ้ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้
- จากสิ่งแปลกปลอม เช่น คอนแทคเลนส์
- จากการแพ้ยาหรือสารเคมี
อาการแทรกซ้อนของเยื่อบุตาอักเสบ
อาการตาอักเสบที่เยื่อบุตาขาว สามารถส่งผลกระทบต่อการมองเห็น อาจทำให้การมองเห็นเกิดตาพร่ามัว ตาแพ้แสง ทั้งนี้ กรณีที่อาการของเยื่อบุตาอักเสบไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ และรับการดูแลรักษาเยื่อบุตาอักเสบก่อนเกิดอาการผิดปกติที่รุนแรง
ใครเสี่ยงต่อการเป็นเยื่อบุตาอักเสบ
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นตาอักเสบหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ?
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนหนาแน่น
- ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นเยื่อบุตาอักเสบ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
- ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ที่มีฝุ่นควัน มลภาวะหรือทำงานที่เพิ่มความเสี่ยงต่อเชื้อโรคเข้าตา
การวินิจฉัยโรคเยื่อบุตาอักเสบ
การตรวจวินิจฉัยเยื่อบุตาอักเสบเบื้องต้น สามารถสังเกตได้จากอาการที่แสดง เช่น อาการตาแดง มีขี้ตามาก และอื่น ๆ รวมถึงแพทย์จะทำการซักประวัติ ถามข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงตรวจตา เพื่อวินิจฉัยว่า อาการตาอักเสบหรือการมีโรคเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากสาเหตุอะไร และจะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้
แนวทางรักษาเยื่อบุตาอักเสบ
โรคเยื่อบุตาอักเสบ เป็นโรคที่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ วิธีรักษาเยื่อบุตาอักเสบ จึงเป็นการรักษาตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้น เช่น หากเป็นเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาตามชนิดของเชื้อที่ติด หรือในกรณีที่มีอาการตาอักเสบ แพทย์จะจ่ายยาลดอาการอักเสบ
ส่วนเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส สามารถหายได้ไปได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ สามารถใช้ยาหยอด เพื่อลดอาการบวม และอาการคันตา
ส่วนที่เกิดขึ้นจากภูมิแพ้ รักษาได้ด้วยการทานยาแก้แพ้หรือบรรเทาอาการเยื่อบุตาอักเสบประคบเย็น หากมีอาการรุนแรง อาจมีการใช้ยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้การใช้ยาชนิดนี้ จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น และในกรณีที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ จะต้องหยุดใช้คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
หากมีอาการเยื่อบุตาอักเสบมากกว่า 1 หรือ 2 สัปดาห์ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาความผิดปกติ และรับการรักษาอย่างตรงจุด
ส่วนใครต้องทำงานที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ควรลางาน เพื่อรักษาอาการ และเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจแพร่ไปยังคนอื่น ๆ ควรหยุดพักผ่อน งดการใช้สายตา และงดการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายดี
การป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบ
เนื่องจากโรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส สามารถแพร่กระจาย ติดต่อกันได้ง่าย และรวดเร็ว จากการสัมผัสหรือการใช้ของร่วมกัน จึงควรเรียนรู้วิธีป้องกัน ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณรอบดวงตา และการถูขยี้ตา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อที่สามารถนำไปสู่โรคเยื่อบุตาอักเสบ และป้องกันการแพร่กระจายโรคจากดวงตาข้างหนึ่งไปสู่อีกข้างหนึ่ง
- รักษาสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอ จาม ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ และเมื่อต้องการไอหรือจาม ควรปิดจมูก ปิดปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เครื่องสำอาง น้ำยาหยอดตา ผ้าเช็ดแว่น หมอน และอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบ และอาการแพ้อื่น ๆ ที่อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิต
- สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา สามารถป้องกันเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อได้จากการทำกิจกรรมทางน้ำหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าดวงตาป้องกันอันตรายที่อาจได้รับ นอกเหนือจากการอักเสบและติดเชื้อ
ข้อสรุปของเยื่อบุตาอักเสบ
โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโรคภูมิแพ้ โดยมีอาการตาแดง เปลือกตาบวม มีขี้ตาเหนียว ตาแฉะ ตาสู้แสงไม่ได้ แตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิด
ทั้งนี้ควรเข้าพบแพทย์ รับการวินิจฉัยสาเหตุ อาการ เพื่อรับการรักษาเยื่อบุตาอักเสบได้อย่างตรงจุด รวมถึงใครที่มีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปหรือมีตาอักเสบ รุนแรง ควรเข้ารับการตรวจหาความผิดปกติทันที