ไทรอยด์ขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคไทรอยด์ รีบรักษาก่อนเป็นอันตราย

โรคไทรอยด์ขึ้นตา เกิดจากภูมิต้านทานต่อต่อมไทรอยด์ที่มีผลต่อเปลือกตา และเบ้าตา นอกจากลักษณะอาการของไทรอยด์ขึ้นตาจะก่อให้เกิดความผิดปกติ และส่งผลต่อความมั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาจเป็นอันตรายได้มากกว่าที่คิด และยังมีใครหลายคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนเองเป็นไทรอยด์ จนกระทั่งแพทย์วินิจฉัยหลังสังเกตเห็นความผิดปกติ รู้เท่าทันโรคไทรอยด์ขึ้นตาในบทความนี้ เพื่อที่จะรักษาได้เร็วที่สุด

สารบัญบทความ

    โรคไทรอยด์ คืออะไร

    ไทรอยด์ขึ้นตา คืออะไร
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.aao.org

    ก่อนจะทำความเข้าใจกับภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มาทำความรู้จักกับโรคไทรอยด์ก่อน โดยปกติแล้ว ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการด้านการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย แต่เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ไทรอยด์เป็นพิษ นำไปสู่การอักเสบที่กล้ามเนื้อตา และเนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตา ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกิดอาการบวม 

    ทำความรู้จักไทรอยด์ขึ้นตา

    ไทรอยด์ขึ้นตา คืออะไร ? ไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Eye Disease หรือ TED) เป็นโรคตาที่อาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับไทรอยด์เป็นพิษ โดยจะแสดงอาการผิดปกติทางตาที่หลากหลาย เช่น การอักเสบที่กล้ามเนื้อตา และเนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตา ทำให้เกิดลักษณะตาโปน รวมถึงอาการผิดปกติอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจมีความรุนแรงจนกระทบต่อการมองเห็นได้

    อาการของไทรอยด์ขึ้นตา

    อาการของไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Eye Disease หรือ TED) สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการที่แสดงออกมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อตา และอาการบวมของเนื้อเยื่อไขมันบริเวณรอบดวงตาอย่าง ลักษณะของตาโปนจากไทรอยด์ และอาการอื่น ๆ เช่น

    • เปลือกตาบวมแดง 
    • เยื่อบุตาแดง
    • ตาแห้ง ตาไม่สู้แสง
    • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในตา 
    • ตาเขตาเหล่
    • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นเป็นภาพซ้อน 
    • น้ำตาไหลผิดปกติ
    • มีความยากลำบากในการหลับตา กลอกตาได้ไม่เต็มที่
    • สูญเสียการมองเห็น หรือตาบอด

    สาเหตุของไทรอยด์ขึ้นตา

    อาการไทรอยด์ขึ้นตา เกิดจากอะไร

    ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเกิดอาการไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Eye Disease หรือ TED) มีอยู่หลากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว เป็นทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น 

    • อยู่ในช่วงอายุ 40 ถึง 60 ปี
    • เพศหญิง
    • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติไทรอยด์ขึ้นตา
    • ผู้ที่มีธาตุซีลีเนียมในเลือดต่ำ
    • ไม่สามารถควบคุมโรคไทรอยด์ได้
    • ผู้ที่มีความเครียด
    • มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่

    ภาวะแทรกซ้อนของไทรอยด์ขึ้นตาที่เกิดขึ้นได้

    เมื่อเกิดอาการไทรอยด์ขึ้นตา นอกจากจะเกิดอาการตาโปนจากไทรอยด์ ตาเหลือกหรือเปลือกตาสูงขึ้นจนเห็นตาขาวด้านบนตาดำ บางรายเกิดอาการตาเหล่ตาเข ตาแดง ตาแห้ง ตาพร่ามัว หรืออาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ โดยอาการจะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงในแต่ละคน และการเป็นไทรอยด์ขึ้นตา ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหิน จากความดันในลูกตาที่สูงขึ้น

    แนวทางการรักษาไทรอยด์ขึ้นตา

    ไทรอยด์ขึ้นตา รักษายังไง ? การรักษาไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Eye Disease หรือ TED) เป็นการรักษาควบคู่กันระหว่างโรคไทรอยด์เป็นพิษกับอาการทางตาที่ได้รับผลกระทบ สามารถจำแนกวิธีการรักษาได้ ดังต่อไปนี้

     การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ

    เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนในปริมาณมากเกินไป จึงจะต้องรักษา โดยการควบคุมหรือลดปริมาณการผลิตฮอร์โมน ซึ่งสามารถรักษาได้ทั้งวิธีที่ต้องผ่าตัด และไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ควรพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย เลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

    • การรักษาด้วยการรับประทานยายับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ 
    • การรักษาด้วยการกลืนแร่หรือรับประทานแร่รังสีไอโอดีน เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่ไม่มากเกิน
    • การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ในกรณีที่การรับประทานยาไม่ได้ผล แพทย์จะผ่าตัดต่อมไทรอยด์ให้มีขนาดที่เล็กลง โดยในกรณีที่ผ่าตัดนำเอาต่อมไทรอยด์ออก อาจทำให้ร่างกายขาดหรือมีฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป (hypothyroidism) จึงจะต้องรับประทานยา เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่ปกติ

    การรักษาไทรอยด์ขึ้นตา

    วิธีรักษาไทรอยด์ขึ้นตานั้น แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการ หากอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง สามารถดูแล และบรรเทาอาการไทรอยด์ ตาแห้ง ระคายเคืองตาได้ ด้วยการหยอดน้ำตาเทียม รักษาความชุ่มชื้นให้กับดวงตาอยู่เสมอ หยุดพฤติกรรมสูบบุหรี่ที่มีส่วนกระตุ้นอาการไทรอยด์ขึ้นตา รวมถึงสามารถสวมแว่นเลนส์ปริซึม เพื่อบรรเทาการมองเห็นไม่ชัด หรือเห็นเป็นภาพซ้อนได้ 

    ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อประเมินถึงลักษณะอาการ และความรุนแรง โดยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการบวมบริเวณรอบดวงตา ส่วนในกรณีที่รุนแรงมาก สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกเบ้าตา (Orbital decompression) ที่จะช่วยผ่อนคลายแรงดันในเส้นประสาทตา บรรเทาอาการตาโปนจากไทรอยด์ ผ่าตัดรักษาตาเขตาเหล่ และการผ่าตัดรักษาเปลือกตาที่มีระดับสูงขึ้น

    แนวทางป้องกันไทรอยด์ขึ้นตา

    วิธีป้องกันโรคไทรอยด์ขึ้นตา

    แม้ว่า โรคไทรอยด์ขึ้นตา จะไม่มีวิธีป้องกันการเกิด แต่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการไทรอยด์ขึ้นตาแย่ลงได้  เช่น หยุดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมสูบบุหรี่, คอยตรวจเลือด เพื่อเช็ก และควบคุมระดับฮอร์โมน รวมถึงรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียม เป็นต้น

    ข้อสรุปไทรอยด์ขึ้นตา

    ไทรอยด์ขึ้นตา คือ อาการทางตาจากโรคไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการตาโปน ตาแห้ง ตาแดง เปลือกตาเลิกขึ้น ตาแพ้แสง เห็นภาพซ้อน โดยอาการที่แสดงของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามระดับความรุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยา และการผ่าตัด เมื่อมีอาการควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุโรคไทรอยด์ขึ้นตา ระดับความรุนแรงและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    เอกสารอ้างอิง

    Kierstan Boyd. (2023 June, 15). What Is Thyroid Eye Disease (TED) or Graves’ eye disease?. AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
    https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-graves-disease

    Thyroid Eye Disease. (2022 September, 28). clevelandclinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17558-thyroid-eye-disease