ตาเหล่ ตาเข อาการทางตาที่ส่งผลต่อการมองเห็น

ปัญหาตาเหล่ ตาเข สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ในระยะยาว หากพบความผิดปกติ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจส่งผลอันตรายมากกว่าที่คิด แล้วโรคตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร ? รักษาได้อย่างไรบ้าง ?

สารบัญบทความ

    ตาเหล่ ตาเข คืออะไร

    โรคตาเหล่ ตาเข คือ ความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อตา สมอง และเส้นประสาท ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด โดยตาดำของดวงตาทั้งสองข้างมองไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ไม่อยู่ที่จุดกึ่งกลาง สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 3 ชนิด

    ประเภทของตาเหล่ ตาเข

    ตาเหล่ออกนอก

    ตาเหล่ออกด้านนอก เป็นตาเหล่ ตาเขชนิดที่พบมากในผู้ใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวตาหรือกล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรง

    ตาเหล่เข้าใน

    ตาเหล่เข้าด้านใน เป็นตาเหล่ชนิดที่พบมากในเด็ก เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา โดยมีลักษณะเหล่เข้าข้างในหรือบริเวณสันจมูก แต่จะสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ หากอาการตาเหล่ยังไม่หายไปเมื่ออายุครบ 6 เดือน ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษา

    รวมถึงใครที่มีปัญหาค่าสายตายาวมากหรือมีค่าสายตายาวกว่า 4.0 D และมีพฤติกรรมเพ่งมอง เพื่อให้เกิดภาพชัดอยู่เป็นประจำ ก็สามารถก่อให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเขเข้าในได้เช่นกัน

    ตาเหล่ขึ้นบน และลงล่าง

    ตาเหล่ขึ้นบนและลงล่าง เป็นตาเหล่ชนิดที่พบได้น้อยแต่มักเกิดกับผู้ใหญ่ โดยเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาตั้งแต่กำเนิด 

    สาเหตุการเกิดตาเหล่ ตาเข

    ตาเหล่ เกิดจากอะไร ? ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของโรคตาเหล่ ตาเข เกิดจากการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อตา รวมถึงพฤติกรรมการใช้สายตาที่มากเกินความพอดี โดยสามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุตาเหล่ในเด็กและผู้ใหญ่

    ตาเหล่ ตาเขในเด็ก

    สาเหตุของโรคตาเหล่ ตาเขในเด็ก สามารถเกิดได้จาก

    • พันธุกรรม
    • การทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทหรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา ทำให้เด็กตาเหล่
    • การมีค่าสายตาที่ผิดปกติอย่างภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวโดยกำเนิด ซึ่งการที่เด็กมีการมองเห็นที่พร่ามัว จะทำให้เด็กต้องใช้กล้ามเนื้อตาทำงานอย่างหนักในการเพ่งมองให้ชัดขึ้น โดยการมองเห็นที่พร่ามัวอาจเกิดได้ทั้งจากปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติหรือโรคทางตา ไม่ว่าจะเป็นโรคต้อกระจกโดยกำเนิด จอประสาทตาลอก

    ตาเหล่ ตาเขในผู้ใหญ่

    ส่วนสาเหตุของโรคตาเหล่ ตาเข ผู้ใหญ่ เหมือนกับที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น

    • การทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อตา
    • การมีพฤติกรรมการใช้สายตามากเกินไปจนเกิดความผิดปกติ

    อีกทั้งสามารถเกิดโรคตาเหล่ตาเขได้จากการสั่งงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทและสมอง รวมถึงโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและโรคตาจากไทรอยด์

    ภาวะอื่นที่คล้ายกับโรคตาเหล่ ตาเข

    ประเภทของอาการตาเหล่
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.aapos.org

    โรคตาเหล่ ตาเข ยังมีตาเหล่แบบเทียม และตาเหล่ซ่อนเร้นอีกด้วย

    ตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria)

    ตาเหล่ ตาเขซ่อนเร้น จะสามารถสังเกตได้ยาก เพราะมักแสดงอาการแค่ในบางช่วง และในตอนที่ใช้สายตา คนตาเหล่ซ่อนเร้นจะรู้สึกตาล้าง่ายกว่าปกติ สามารถรักษาได้ด้วยการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา

    ตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus)

    ส่วนคนที่เป็นตาเหล่เทียม ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร แต่ด้วยลักษณะโครงสร้างใบหน้า เช่น ดวงตาอยู่ใกล้กันหรือตาชิด ที่หลอกตาเราให้ดูเหมือนว่าเรามีอาการตาเหล่

    ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากโรคตาเหล่ ตาเข

    นอกจากโรคตาเหล่ ตาเข จะเป็นตัวการทำลายความมั่นใจในรูปลักษณ์แล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษาแก้ไขตาเหล่ สามารถก่อให้เกิดภาวะหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

    • ตาขี้เกียจ เกิดจากการที่เราใช้ดวงตาในการมองสิ่งต่าง ๆ เพียงข้างเดียวเป็นหลัก ส่วนดวงตาอีกหนึ่งข้างถูกกดไว้ไม่ได้รับการพัฒนา จึงนำไปสู่โรคตาขี้เกียจ 
    • อาการตาล้า เมื่อยตา ที่เกิดจากการทำงานไม่สัมพันธ์กันของดวงตา 
    • ความสามารถในการรับรู้ภาพสามมิติลดลงหรือไม่สามารถรับรู้ความกว้าง ยาว ลึก รวมถึงระยะความใกล้ไกลของวัตถุที่อยู่ตรงหน้า

    ทราบได้อย่างไรว่า เรากำลังมีภาวะตาเหล่ ตาเข

    วิธีการสังเกตภาวะตาเหล่ ตาเข สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ในเบื้องต้น อาจใช้วิธีการถ่ายรูปพร้อมเปิดแฟลช โดยให้มองตรงไปที่กล้อง หากแสงสะท้อนจากแฟลชไม่อยู่ที่บริเวณกึ่งกลางของตาดำ สามารถบ่งบอกได้ว่า มีอาการตาเหล่ ตาเข รวมถึงสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เช่น พฤติกรรมหรี่ตา เพ่งมอง พฤติกรรมเอียงคอมองสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

    ทั้งนี้ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ใจ โดยแพทย์อาจทำการตรวจการมองเห็นเพิ่มเติม

    การตรวจวินิจฉัยตาเหล่ ตาเข

    การตรวจวินิจฉัยตาเหล่ ตาเข โดยจักษุแพทย์ แพทย์จะเริ่มจากการสังเกตด้วยตาเปล่า ซักประวัติอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย พร้อมตรวจดูการตอบสนองของดวงตาจากการส่องไฟ ตรวจการมองเห็น เช่น การวัดสายตา เป็นต้น รวมถึงแพทย์จะทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุการเกิด และวางแผนการรักษาตาเขได้อย่างตรงจุด เนื่องจากอาการตาเหล่ ตาเข อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้

    วิธีรักษาตาเหล่ ตาเข มีกี่วิธี

    วิธีรักษาตาเหล่

    ตาเหล่ รักษาได้กี่วิธี ? โรคตาเหล่ ตาเข สามารถรักษาให้หายได้ด้วยทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด หากมีอาการตาเหล่ ตาเข ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและแนวทางในการรักษาตาเขที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

    รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

    การรักษาอาการตาเหล่ ด้วยวิธีไม่ผ่าตัดสามารถทำได้ โดยพิจารณาจากสาเหตุของอาการ หากเกิดจากปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการเพ่งมองสิ่งของ สามารถแก้ไขในเบื้องต้นด้วยการสวมแว่นตา หรือหากอาการตาเหล่เกิดขึ้นในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาการตาเหล่จะสามารถหายไปได้เอง เนื่องจากกล้ามเนื้อตาของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการตาเหล่เข้าด้านในได้ 

    รวมถึงตาเหล่ที่เกิดกับคนที่ใช้ดวงตาข้างเดียวในการมองเห็น เนื่องจากดวงตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาที่แตกต่างกันมาก สามารถรักษาตาเหล่ด้วยการปิดตาข้างที่เห็นชัดกว่า เพื่อฝึกการมองเห็นในดวงตาอีกข้าง

    รักษาโดยวิธีผ่าตัด

    กรณีที่เกิดอาการตาเหล่ ตาเขจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา (Muscle correction) หากรีบรักษาตั้งแต่เด็กจะเห็นผลได้ดี สามารถมองเห็นได้เป็นปกติ โดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา แพทย์จะปรับความยาวและความตึงของกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เพื่อที่กล้ามเนื้อตาจะสามารถทำงานได้อย่างสัมพันธ์กัน

    วิธีป้องกันโรคตาเหล่ ตาเข

    ถึงแม้ว่า สาเหตุการเกิดอาการตาเหล่ ตาเข มักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาที่ทำงานไม่ประสานกันหรือการพัฒนากล้ามเนื้อตาที่ไม่เต็มที่ของตาเหล่ในเด็ก ซึ่งทำให้ป้องกันได้ยาก แต่เราสามารถคอยสังเกตความผิดปกติ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น 

    อย่างไรก็ตาม หากอาการตาเหล่เกิดจากการมีปัญหาค่าสายตาที่ผิดปกติหรือพฤติกรรมการเพ่งมองและใช้สายตาหนักเกินไป สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การสวมแว่นให้ตรงตามค่าสายตา ไม่พยายามเพ่งมองสิ่งของ หมั่นพักสายตาเป็นระยะ

    ข้อสรุปโรคตาเหล่ ตาเข

    โรคตาเหล่ ตาเข คือ ความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อตา สมอง และเส้นประสาท ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด โดยตาดำของดวงตาทั้งสองข้างมองไปในทิศทางที่แตกต่างกัน สามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด หากสังเกตว่า มีอาการตาเหล่ ตาเข ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    เอกสารอ้างอิง

    Kierstan Boyd. (2023 July, 25). Strabismus in Children. AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY. https://www.aao.org/eye-health/diseases/strabismus-in-children 

    Strabismus (Eye Misalignment). (n.d.). clevelandclinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/strabismus-eye-misalignment