ม่านตาอักเสบ ไม่รีบรักษา เสี่ยงสูญเสียการมองเห็น

ม่านตา (Uvea) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของดวงตา ที่สามารถเกิดการอักเสบได้จากสาเหตุหลายประการ โดยม่านตาอักเสบมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นได้ในดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งความอันตรายของภาวะนี้ คือสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยป่วยเป็นโรคดังกล่าว และไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างถาวร

สารบัญบทความ

    ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis) คืออะไร

    ภาวะม่านตาอักเสบ คืออะไร
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.allaboutvision.com

    ยูเวียอักเสบ (Uveitis) หรือม่านตาอักเสบ คือ การอักเสบในส่วนของเนื้อเยื่อชั้นกลาง (Uvea) ภายในดวงตา ซึ่งม่านตาอักเสบในเนื้อเยื่อส่วนกลางสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนตามบริเวณที่เกิดการอักเสบ

    ประเภทของภาวะม่านตาอักเสบ

    • ม่านตาอักเสบส่วนหน้า (Anterior Uveitis) คือ การอักเสบของม่านตาบริเวณด้านหน้าของตา เกิดขึ้นระหว่างกระจกตา (Cornea) กับม่านตา (Iris) และเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (Ciliary Body) ซึ่งเนื้อเยื่อซิลเลียรี่มีหน้าที่สร้างน้ำในตาและช่วยในการปรับระยะโฟกัสเพื่อความคมชัดของการมองเห็นในแต่ละระยะ โดยภาวะม่านตาอักเสบส่วนหน้าจะเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด
    •  ม่านตาอักเสบส่วนกลาง (Intermediate Uveitis) คือ การอักเสบของม่านตาบริเวณวุ้นตา (Vitreous) ที่มีลักษณะเป็นของเหลว และจอประสาทตารอบนอก (Retina)
    • ม่านตาอักเสบส่วนหลัง (Posterior Uveitis) คือ การอักเสบของม่านตาบริเวณชั้นที่อยู่ภายในดวงตาด้านหลัง ทั้งส่วนของจอประสาทตา (Retina) และเนื้อเยื่อคอรอยด์ (Choroid) ซึ่งเนื้อเยื่อคอรอยด์จะประกอบไปด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก โดยเส้นเลือดเหล่านี้จะช่วยไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตา รวมถึงเส้นประสาทต่าง ๆ ที่อยู่ภายในดวงตา
    • ม่านตาอักเสบทุกส่วน (Panuveitis) คือ การอักเสบของม่านตาในทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการอักเสบตั้งแต่ส่วนหน้าไปจนถึงส่วนหลังตลอดทั้งดวงตา เป็นภาวะม่านตาอักเสบที่จะมีอาการค่อนข้างรุนแรง

    ลักษณะอาการม่านตาอักเสบ

    ม่านตาอักเสบที่มีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทางร่างกายและโรคต่าง ๆ มักจะมีอาการแสดงออกมาร่วมกับอาการของโรค บางครั้งอาจตรวจพบว่าเป็นโรคม่านตาอักเสบก่อน แล้วจึงพบว่าเป็นโรคอื่น ๆ หรือบางครั้งก็อาจตรวจพบโรคอื่น ๆ ก่อน แล้วจึงพบม่านตาอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนก็ได้ ซึ่งอาการม่านตาอักเสบอาจแสดงออกมาอย่างฉับพลันทันที หรือค่อย ๆ มีอาการต่าง ๆ ปรากฏขึ้น นอกจากนี้ อาการที่แสดงออกมายังขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง

    ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน

    • ตาแดง
    • น้ำตาไหล
    • ตาพร่ามัว 
    • ดวงตามีความไวต่อแสง อาจมีอาการตาสู้แสงไม่ได้ หรือตาแพ้แสง

    ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง 

    อาการของม่านตาอักเสบเรื้อรัง คล้ายกับม่านตาอักเสบเฉียบพลัน โดยมีอาการตาแดงเล็กน้อย ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และตาแพ้แสง แต่ผู้ป่วยจะมีอาการนานเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน

    สาเหตุการเกิดม่านตาอักเสบ

    ม่านตาอักเสบ เกิดจากอะไร ? ม่านตาอักเสบสามารถเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ซึ่งสาเหตุส่วนมากมักจะเกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ ภายในร่างกาย หรือไม่ก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยสาเหตุของการเกิดมีดังนี้

    สาเหตุม่านตาอักเสบจากการติดเชื้อ

    การติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคม่านตาอักเสบโดยหลัก ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต (พยาธิ) และเชื้อโปรโตซัว โดยสาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากการได้รับเชื้อเข้าสู่ดวงตา ไม่ว่าจะเป็นผ่านแผลที่กระจกตา หรือการเป็นโรคทางตาอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือที่รู้จักกันในชื่อโรคตาแดง เป็นต้น

    สาเหตุม่านตาอักเสบที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ

    • โรคทางกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคเริม, โรคงูสวัด, วัณโรค, โรคซิฟิลิส และอื่น ๆ หรือโรคจากความเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคมะเร็งที่เกิดกับส่วนอื่นในร่างกาย แต่มีการแพร่กระจายและลุกลามมาถึงดวงตา ล้วนเป็นสาเหตุม่านตาอักเสบได้
    • การได้รับอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา รวมถึงการผ่าตัดดวงตา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขค่าสายตาจากความผิดปกติที่ทำให้เกิดสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง หรือการผ่าตัดเพื่อการรักษาดวงตา เช่น การผ่าตัดเพื่อรักษาจอประสาทตาเสื่อม ต้อลม ต้อหิน ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก เป็นต้น
    • ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ไม่สามารถระบุสาเหตุได้

    ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากม่านตาอักเสบ

    อาการแทรกซ้อนของโรคม่านตาอักเสบ
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.allaboutvision.com

    ม่านตาอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาม่านตาอักเสบไม่ทันท่วงที ก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ได้แก่

    • โรคต้อกระจก
    • โรคต้อหิน
    • โรคจอประสาทตาลอก
    • จอประสาทตาบวม
    • เกิดเป็นแผลที่จอประสาทตา
    • จอประสาทตาหรือเส้นประสาทตาถูกทำลาย
    • มีเลือดออกในตา
    • มีพังผืดในตา
    • สูญเสียการมองเห็นถาวร

    การตรวจวินิจฉัยม่านตาอักเสบ

    การตรวจวินิจฉัยม่านตาอักเสบ จักษุแพทย์จะทำการซักประวัติ ดำเนินการตรวจสุขภาพตาดูความผิดปกติภายในตา และอาจมีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือด ตรวจผิวหนัง การเอกซเรย์ เนื่องจากภาวะม่านตาอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้จากโรคทางกายอื่น ๆ  

    การรักษาม่านตาอักเสบ

    ในการรักษาม่านตาอักเสบ จะมุ่งเน้นไปที่การลดการอักเสบให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ม่านตาได้รับความเสียหายมากไปกว่าเดิม ประกอบกับการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดไปด้วย เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

    โรคนี้ มักรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตา ยากิน และยาฉีด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาของจักษุแพทย์ ซึ่งยารักษาม่านตาอักเสบที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิด หากเป็นม่านตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย จักษุแพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อไวรัสหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย  หากไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จักษุแพทย์ก็จะให้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งการให้ยาเหล่านี้ก็สามารถใช้ร่วมกับยาลดการอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังมียาหยอดตาอะโทรปีน (Atropine Eye Drop) ซึ่งเป็นยาขยายม่านตา จะช่วยลดอาการเกร็งของม่านตาและมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด

    หากเกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็จะต้องรักษาม่านตาอักเสบควบคู่ไปกับโรคนั้น ๆ ด้วย เพราะอาการม่านตาอักเสบกับโรคเหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน การรักษาควบคู่กันแบบนี้จะช่วยให้มีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น

    การป้องกันม่านตาอักเสบ

    วิธีป้องกันภาวะม่านตาอักเสบ

    เนื่องจากภาวะม่านตาอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้แบบที่ไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้ แต่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดได้ ดังต่อไปนี้

    • เมื่อต้องทำงานหรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ควรสวมแว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา
    • หากดวงตาเกิดการติดเชื้อ ควรรีบรับการรักษาก่อนเป็นอาการจะพัฒนาความรุนแรง
    • เข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ 1 ครั้งต่อปี เพราะหากพบความผิดปกติจะสามารถเข้ารับการดูแลรักษาได้ในทันที

    ข้อสรุปของม่านตาอักเสบ

    ม่านตาอักเสบ เป็นโรคที่มีความรุนแรงซึ่งจะนำมาสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างถาวร โดยมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและแบบเรื้อรังที่จะมีอาการอักเสบมากกว่า 3 เดือน เมื่อป่วยเป็นโรคม่านตาอักเสบแล้ว ก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทำให้ผู้ป่วย ควรเข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์อย่างเร็วที่สุด นอกจากนี้ โรคนี้ ยังพบได้ในผู้คนทุกเพศและทุกวัย การหมั่นไปตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี ก็จะสามารถช่วยตรวจหาอาการที่จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคม่านตาอักเสบได้ นับเป็นวิธีการป้องกันการเกิดวิธีหนึ่ง

    เอกสารอ้างอิง

    Uveitis. (n.d.). clevelandclinic.
    https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14414-uveitis