ภาวะสายตาเอียง มีสาเหตุและอาการ รวมถึงวิธีการรักษาอย่างไร?

ภาวะสายตาเอียง เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากความผิดปกติของกระจกตา ซึ่งเป็นกันมาตั้งแต่เกิด ส่งผลให้มองเห็นภาพเบลอ ไม่ชัด มีเงาซ้อน บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หากผู้ที่มีสายตาเอียงต้องการกลับมามองเห็นชัดเจนเป็นปกติ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ แต่หากต้องการแก้ไขที่ความผิดปกติของกระจกตา ก็ต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อทำเลสิก

สารบัญบทความ

    สายตาเอียง (Astigmatism) คืออะไร?

    สายตาเอียงคือ
    ขอบคุณรูปภาพจาก : www.britannica.com

    สายตาเอียง (Astigmatism) คือ การที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดทั้งในระยะใกล้และระยะไกล โดยอาจมองเห็นเป็นภาพที่มีเงาซ้อนกัน หรือภาพมีความบิดเบี้ยวผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งผู้ที่มีสายตาเอียงยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยอีกมากมาย 

    ภาวะสายตาเอียงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะตัวหนังสือหรือตัวเลขต่าง ๆ การขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ปัญหาสายตาเอียงยังมักเกิดร่วมกับปัญหาสายตาอื่น ๆ อย่างสายตาสั้นและสายตายาวด้วย

    สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง

    สายตาเอียงเกิดจากกระจกตาที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีความโค้งไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นทรงกลม เช่น โค้งเป็นวงรี โค้งเป็นรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน และแนวเฉียง ทำให้เมื่อมีแสงตกกระทบลงบนวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา แสงจะหักเหผิดพลาด เกิดเป็นจุดโฟกัสมากกว่าหนึ่งจุด และไม่ตกกระทบที่จอประสาทตาอย่างที่ควรจะเป็น 

    ภาวะสายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นโดยกำเนิด อาจเกิดจากพันธุกรรม แต่ก็มีบางคนที่เกิดจากการประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา หรือเป็นผลกระทบจากการผ่าตัดดวงตา เช่น การผ่าตัดต้อหิน รวมถึงยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ตาเหล่หรือตาเข ผู้ที่มีรอยแผลที่กระจกตา เนื่องจากกระจกตาอักเสบและกระจกตาติดเชื้อ ผู้ที่เป็นโรคกระจกตาย้วย (Keratoconus) ซึ่งส่งผลให้กระจกตาผิดรูปไป กลายเป็นรูปทรงกรวย

    ประเภทของสายตาเอียงมีอะไรบ้าง?

    ที่จริงแล้วสายตาเอียงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ และสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสายตาเอียงทั้ง 2 ประเภทต่างกันดังนี้

    • สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ

    เกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดปกติหรือมีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน โดยอาจจะโค้งเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงเพียงแค่ทิศทางเดียว ซึ่งแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและแนวที่มีกำลังหักเหต่ำสุดจะตั้งฉากกัน หากแบ่งตามแนวของกำลังหักเห จะแบ่งออกเป็นอีก 3 ชนิด ได้แก่

    1. กำลังหักเหแนวหนึ่งปกติ แต่กำลังหักเหอีกแนวหนึ่งเป็นสายตาสั้นหรือสายตายาว
    2. กำลังหักเหเป็นสายตาสั้นทั้ง 2 แนว หรือกำลังหักเหเป็นสายตายาวทั้ง 2 แนว
    3. กำลังหักเหแนวหนึ่งเป็นสายตาสั้น แต่กำลังหักเหอีกแนวหนึ่งเป็นสายตายาว

    สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอสามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด โดยจะพบได้ทั่วไปและพบได้มากกว่าสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการแก้ไข คือ การใส่แว่นสายตา การใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดกระจกตา

    • สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ

    เกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดปกติหรือมีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน โดยอาจจะโค้งเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงในหลายทิศทาง ซึ่งแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและแนวที่มีกำลังหักเหต่ำสุดจะไม่ตั้งฉากกัน สาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา ทำให้กระจกตาได้รับการกระทบกระเทือน เกิดเป็นรอยแผลที่กระจกตาหรือกระจกตาผิดรูปไป ซึ่งวิธีการแก้ไข คือ การใส่คอนแทคเลนส์และการผ่าตัดกระจกตา

    อาการสายตาเอียงมีอะไรบ้าง?

    โดยทั่วไปแล้ว การมองเห็นของคนที่มีสายตาเอียงและอาการอื่น ๆ ของคนที่มีสายตาเอียงจะมีดังนี้

    • มองเห็นภาพเบลอ ไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว  
    • เห็นภาพมีเงาลาง ๆ เกิดเป็นเงาซ้อน 
    • ภาพที่เห็นบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง
    • ปวดตา ปวดกระบอกตา ตาล้า เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 
    • ปวดศีรษะ ปวดหัวคิ้ว อาจลามไปถึงขมับและท้ายทอย จากการเพ่งสายตาหรือหรี่ตามองเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นการสั่งการจากสมองให้เราปรับโฟกัสเมื่อมองสิ่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้ในอนาคต
    • ตาไม่สู้แสง เมื่อเจอแสงแดดหรือแสงที่จ้ามาก ๆ จะแสบตา น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น
    • มองเห็นตอนกลางคืนไม่ชัดมากกว่าตอนกลางวัน 
    • เห็นแสงจากดวงไฟฟุ้งเป็นเส้น แตกคล้ายดาวกระจาย โดยเฉพาะแสงจากดวงไฟที่เห็นในตอนกลางคืน
    • ไม่สามารถแยกตัวอักษร ตัวหนังสือ และตัวเลขได้ โดยตัวเลขที่มักจะพบว่าเป็นปัญหาบ่อย ๆ ได้แก่ 0, 3, 5, 6, 8, 9 

    นอกจากนี้ ภาวะสายตาเอียงยังมักจะเกิดร่วมกับปัญหาสายตาอื่น ๆ ดังนี้

    สายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น

    ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้นจะมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ไม่ชัดและมองเห็นภาพเป็นเงาซ้อน

    สายตาเอียงร่วมกับสายตายาว

    ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตายาวจะมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ไม่ชัดและมองเห็นภาพเป็นเงา เบลอ หรือบิดเบี้ยวผิดไปจากความเป็นจริง

    สายตาเอียงแบบผสม

    เป็นปัญหาความผิดปกติของสายตาที่มีความซับซ้อน เกิดจากในดวงตาข้างเดียวกันอาจมีทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงแบบผสมจะมองเห็นวัตถุได้ไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้และระยะไกล อีกทั้งยังอาจเห็นภาพเป็นเงาซ้อนและบิดเบี้ยว

    ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะสายตาเอียง 

    ภาพที่คนสายตาเอียงเห็น

    สายตาเอียง เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตอนกลางคืน เพราะจะเห็นดวงไฟจากรถ ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าหรือไฟท้าย รวมถึงไฟจราจร แตกเป็นเส้นฟุ้ง ๆ คล้ายดาวกระจาย จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับตัวอักษรและตัวเลข เช่น นักเขียนหรือนักบัญชี ก็จะมีปัญหาในการแยกแยะตัวอักษรและตัวเลขต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

    นอกจากนี้ หากมีภาวะสายตาเอียงข้างเดียว อาจทำให้เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจ เนื่องจากดวงตาข้างที่มีสายตาเอียงจะถูกใช้งานน้อยกว่าดวงตาอีกข้าง ทำให้ดวงตาข้างนั้นสูญเสียพัฒนาการในการมองเห็นหรือมีพัฒนาการในการมองเห็นที่น้อยลง

    การวินิจฉัยภาวะสายตาเอียง 

    การตรวจและวัดสายตาเอียงควรทำโดยจักษุแพทย์เฉพาะทาง เพราะต้องอาศัยขั้นตอนในการตรวจที่ทำในโรงพยาบาล ดังนี้

    1. การตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity : VA) เป็นการตรวจวัดเพื่อประเมินความสามารถในการมองเห็นทั้งในระยะใกล้และระยะไกล โดยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา (Snellen Chart) ที่มีตัวอักษรหรือตัวเลข 8 แถว ไล่ขนาดจากใหญ่ไปเล็ก
    2. การวัดความโค้งของกระจกตาด้วยเครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) โดยจักษุแพทย์จะใช้เครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเข้าไปในตา เพื่อดูการหักเหของแสง ซึ่งจะช่วยบอกถึงความโค้งของกระจกตา หากความโค้งของกระจกตาผิดปกติ ก็แสดงว่ามีปัญหาสายตา โดยการวัดความโค้งของกระจกตานี้จะบอกได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
    3. การตรวจวัดกำลังสายตาด้วยโฟรอพเตอร์ (Phoropter) จะเป็นการตรวจวัดเพื่อหาว่าเลนส์ที่มีค่าเท่าใดถึงช่วยหักเหแสงให้การมองเห็นชัดเจนเป็นปกติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอ่านแผนภูมิวัดสายตาผ่านโฟรอพเตอร์ (Phoropter) ซึ่งจะเปลี่ยนเลนส์ในเครื่องไปเรื่อย ๆ จนผู้เข้ารับการตรวจมองเห็นชัด แล้วจึงนำค่าที่ได้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสายตาเอียงอย่างการตัดแว่นสายตาหรือการซื้อคอนแทคเลนส์

    วิธีการรักษาปัญหาสายตาเอียง รวมถึงวิธีการแก้ไข

    วิธีแก้สายตาเอียง

    วิธีการแก้สายตาเอียง สามารถทำได้เหมือนวิธีการแก้ปัญหาสายตาอื่น ๆ หากไม่อยากผ่าตัดก็สามารถเลือกที่จะใส่แว่นสายตาเอียงหรือใส่คอนแทคเลนส์สายตาเอียง แต่ถ้าอยากรักษาสายตาเอียงให้กลับมามองเห็นชัดเจนเป็นปกติอย่างถาวร ก็มีวิธีแก้สายตาเอียงอย่างการทำเลสิกสายตาเอียง ซึ่งสามารถทำเพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวไปพร้อมกันเลย

    ใส่แว่นสายตา

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงในระดับปกติ สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นสายตา โดยการตัดแว่นสายตาเอียงจะต้องตัดตามค่าสายตาเอียงที่ได้จากใบสั่งของจักษุแพทย์ และต้องใช้เลนส์ทรงกระบอกพิเศษ เพื่อแก้ไขความโค้งที่ไม่พอดีของกระจกตา รวมถึงชดเชยกำลังเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ของเลนส์ ซึ่งการใส่แว่นสายตาเป็นวิธีการแก้ปัญหาสายตาเอียงที่ง่ายและปลอดภัย 

    แต่เนื่องจากสายตาเอียงเป็นความผิดปกติของสายตาที่มักเกิดควบคู่กับสายตาสั้นและสายตายาว หากเลือกที่จะใส่แว่นสายตา ควรเลือกตัดแว่นสายตาที่มีคุณภาพดีหรือคุณภาพสูง เพื่อความสบายตาและลดโอกาสที่จะเกิดอาการปวดตา ปวดศีรษะ จนลามไปบริเวณอื่น ๆ ตามมา

    ใส่คอนแทคเลนส์

    การใส่คอนแทคเลนส์สายตาเอียง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการแก้ไขปัญหาสายตาเอียง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีอิสระ เช่น การเล่นกีฬา และยังเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของตนดูเปลี่ยนไป 

    ความพิเศษของคอนแทคเลนส์สายตาเอียง คือ จะต้องใช้การสั่งตัดเพื่อให้ได้ค่าสายตาเฉพาะกับผู้ใส่แต่ละคนเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์สายตาเอียง ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อปรึกษาถึงค่าคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใส่คอนแทคเลนส์คือการรักษาความสะอาด พยายามอย่าใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานจนเกินไป อย่าลืมถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนเข้านอน และห้ามใส่คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุ

    การทำเลสิกสายตา

    การผ่าตัดทำเลสิกเพื่อรักษาสายตาเอียง เป็นวิธีการรักษาสายตาเอียงที่เห็นผลอย่างถาวร เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงระดับรุนแรง ผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ โดยในปัจจุบัน การผ่าตัดรักษาสายตาเอียงแบ่งเป็น การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ได้แก่ การทำเลสิก (LASIK), การทำเฟมโตเลสิก (Femto LASIK), การทำพีอาร์เค (PRK), การทำรีแลกซ์ (Relex) และการผ่าตัดในระดับของเลนส์ตา ได้แก่ การทำไอซีแอล (Implantable Collamer Lens : ICL) ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดรักษาสายตาเอียง จำเป็นต้องเข้าพบจักษุแพทย์ก่อน เพื่อตรวจตาและปรึกษาหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง

    • Microkeratome LASIK

    เลสิก (Laser-Assisted in Situ Keratomileusis : LASIK) คือ การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ซึ่งการทำเลสิก (LASIK) จะใช้ใบมีดจากเครื่อง Microkeratome ในการแยกชั้นกระจกตา แล้วค่อยใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา

    การทำเลสิก (LASIK) จะช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียง รวมถึงสายตาสั้นและสายตายาว

    เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) คือ การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ซึ่งการทำเฟมโตเลสิก (Femto LASIK) จะใช้แสงเลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser  ในการแยกชั้นกระจกตา แล้วค่อยใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา

    การทำเฟมโตเลสิก (Femto LASIK) จะช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียง รวมถึงสายตาสั้นและสายตายาว

    • PRK (Photorefractive Keratectomy)

    พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy : PRK) คือ การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ซึ่งการทำพีอาร์เค (PRK) จะใช้การลอกเยื่อบุผิวบนกระจกตาชั้นนอกออกแทนการแยกชั้นกระจกตา โดยเยื่อบุผิวกระจกตาจะฟื้นฟูกลับมาเอง แล้วค่อยใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา 

    การทำพีอาร์เค (PRK) จะช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียง รวมถึงสายตาสั้นและสายตายาว

    รีแลกซ์ (Relex) คือ การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ซึ่งการทำรีแลกซ์สมายล์ (Relex) จะใช้เลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser มาช่วยในการแยกชั้นกระจกตา แล้วค่อยตัดและนำกระจกตาส่วนเกินออกมาทางแผลที่เปิดไว้ 

    การทำรีแลกซ์ (Relex) จะช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียงและสายตาสั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขค่าสายตายาว

    ไอซีแอล (Implantable Collamer Lens : ICL) ไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาแต่เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์เสริมเข้าไปบริเวณหลังม่านตาหรือบริเวณหน้าเลนส์แก้วตา โดยเลนส์เสริมนี้จะเป็นเลนส์เสริมถาวร ทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

    การทำไอซีแอล (ICL) จะช่วยแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติมาก ๆ ทั้งค่าสายตาเอียง รวมถึงสายตาสั้นและสายตายาว

    การป้องกันการเกิดภาวะสายตาเอียง

    สายตาเอียงยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นความผิดปกติของกระจกตา แต่เราสามารถดูแลดวงตาเพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคตาอื่น ๆ ที่มาจากปัญหาสายตา อีกทั้งการทำตามวิธีเหล่านี้ยังช่วยให้ดวงตาของคุณมีสุขภาพดีอีกด้วย

    • สวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองแสงยูวีเอ (UV-A) และยูวีบี (UV-B) เพื่อปกป้องดวงตาจากแสงแดด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม 
    • หลีกเลี่ยงการใช้สายตาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและควรมีการพักสายตาเป็นระยะ
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ต่างก็ส่งผลเสียต่อดวงตาและสุขภาพร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาได้รับความกระทบกระเทือน
    • ระวังไม่ให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ เช่น ใส่อุปกรณ์ป้องกันหากทำงานช่างที่เสี่ยงอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาเป็นแผลหรือได้รับบาดเจ็บจนผิดรูป 
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีโอเมก้า 3 (Omega 3), ลูทีน (Lutein), ซีแซนทีน (Zeaxanthin), สังกะสี (Zinc), วิตามินซี (Vitamin C), วิตามินอี (Vitamin E) เพื่อบำรุงสายตาและป้องกันโรคทางตา
    • เข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ พร้อมวัดค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจตาจะช่วยให้เราพบโรคทางตาบางโรคที่ยังไม่แสดงอาการปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัด หากได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ 

    FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสายตาเอียง 

    สายตาเอียงเท่าไหร่ควรใส่แว่นตา

    หลายคนอาจจะมีคำถามว่า สายตาเอียงเท่าไหร่ควรตัดแว่น? คำตอบคือ ไม่มีตัวเลขของค่าสายตาที่ระบุแน่นอน หากรู้สึกว่าสายตาเอียงเริ่มทำให้การมองเห็นผิดปกติหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรใส่แว่นสายตาเพื่อความสะดวกและปลอดภัย

    สายตาเอียงสามารถหายเองได้ไหม

    สายตาเอียงเกิดจากความผิดปกติของกระจกตา หากเป็นแล้วก็จะเป็นไปตลอด ไม่สามารถหายได้เอง แต่สายตาเอียงก็มีวิธีแก้ตามที่กล่าวไปในข้างต้น

    สายตาเอียง กับ ตาเข ต่างกันยังไง

    สายตาเอียงคือภาวะที่ทำให้มองเห็นภาพไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะความผิดปกติของกระจกตา แต่ตาเขคือภาวะที่ตาทั้ง 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรง อาจจะเขเข้าหรือเขออก ซึ่งตาเขเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง

    สายตาเอียง มองภาพเป็นอย่างไร

    ภาพที่คนสายตาเอียงเห็นจะเป็นภาพเบลอหรือไม่ชัดเจน เห็นภาพมีเงาลาง ๆ มีเงาซ้อน รวมถึงเห็นภาพบิดเบี้ยว ไม่ตรงตามความเป็นจริง

    สายตาเอียงมีผลต่อการขับรถไหม

    ภาวะสายตาเอียงจะส่งผลต่อการขับรถในตอนกลางคืน เพราะเวลาที่คนสายตาเอียงมองดวงไฟ ทั้งไฟหน้ารถ ไฟท้ายรถ และไฟสัญญาณจราจร จะเห็นดวงไฟฟุ้ง ๆ แตกเป็นเส้นคล้ายดาวกระจาย จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

    เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะสายตาเอียง

    ทดสอบสายตาเอียง

    เราสามารถทดสอบสายตาเอียงเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แบบทดสอบดังภาพและทำตามวิธีดังนี้

    1. เว้นระยะห่างระหว่างผู้ทดสอบและแบบทดสอบประมาณ 40 เซนติเมตร 
    2. ใช้มือปิดตาซ้าย และใช้ตาขวาข้างเดียวมองไปยังแบบทดสอบที่เป็นรูปพัด สังเกตว่าเส้นตรงทุกเส้นเข้มเท่ากันหรือไม่ หากมองแล้วมีบางเส้นเข้มกว่าเส้นอื่น แสดงว่าคุณมีภาวะสายตาเอียง
    3. หากมองแล้วเส้นทุกเส้นมีความเข้มเท่ากัน ให้ถือแบบทดสอบแล้วยืดแขนออกจนสุด จากนั้นมองอีกครั้ง หากมองแล้วมีบางเส้นเข้มกว่าเส้นอื่น แสดงว่าคุณมีภาวะสายตาเอียง แต่ถ้าหากมองแล้วเส้นทุกเส้นมีความเข้มเท่ากัน แสดงว่าคุณไม่มีภาวะสายตาเอียง หรือมีค่าสายตาเอียงที่น้อยมาก ๆ
    4. ทำซ้ำทุกข้ออีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นใช้มือปิดตาขวา และใช้ตาซ้ายมองข้างเดียว

    *หากคุณพบว่ามีสายตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเอียง ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยให้มั่นใจอีกครั้ง หากผลออกมาว่าคุณมีสายตาเอียงจริง ๆ ต้องหาทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

    สรุปภาวะสายตาเอียง

    ภาวะสายตาเอียง เป็นอีกหนึ่งปัญหาสายตาที่เกิดจากกระจกตา จึงสามารถแก้ไขได้ทั้งการใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก ทั้งนี้ สายตาเอียงเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตอนกลางคืน ดังนั้น ผู้ที่มีสายตาเอียงจึงควรหาทางแก้ไขให้มีการมองเห็นเป็นปกติ หากสงสัยว่าตนมีสายตาเอียงหรือไม่? ก็สามารถทดสอบได้ด้วยแบบทดสอบสายตาเอียงด้วยตัวเอง