ทำความรู้จักกับภาวะสายตาสั้น คืออะไร

           สายตาสั้น เป็นปัญหาภาวะสายตาที่ผิดปกติประเภทหนึ่งซึ่งมักพบในวัยเรียนที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นประจำ หรือวัยทำงานที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงแทบทุกวัน โดยผู้ที่มีอาการสายตาสั้นจะมองเห็นภาพที่อยู่ในระยะไกลไม่ชัด ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยภาวะสายตาสั้นอาจเกิดร่วมกับภาวะสายตาเอียง หรือหากเป็นผู้ที่มีสายตาสั้นอยู่แล้ว เมื่ออายุมากขึ้นก็จะสามารถมีสายตาสั้นและยาวพร้อมกันได้ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นแย่ลง

สารบัญบทความ

    สายตาสั้นคืออะไร? หากสายตาสั้นแล้วจะมีอาการอย่างไร?

    ภาพที่คนสายตาสั้นเห็น

               สายตาสั้น (Myopia หรือ Nearsightedness) คือการที่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัด แต่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้อย่างชัดเจน เกิดจากการที่เมื่อแสงตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่กระจกตา แสงจะหักเหไปตกกระทบที่ด้านหน้าของจอประสาทตา (เรติน่า) ก่อนถึงจุดรับภาพ ทำให้ภาพที่คนสายตาสั้นเห็นมีความเบลอ ซึ่งภาวะสายตาสั้นพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะเป็นสายตาสั้นข้างเดียวหรือสายตาสั้นทั้ง 2 ข้างก็ได้ หากสายตาสั้นทั้ง 2 ข้าง ค่าสายตาก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

    อาการสายตาสั้นเป็นอย่างไร?

               โดยทั่วไปคนที่มีสายตาสั้นจะมีอาการ คือมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ปกติ แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ไม่ชัดเจน อาจต้องใช้การเพ่ง หรี่ตา หรือขยับตัวให้เข้าไปใกล้วัตถุที่ต้องการมองเพื่อให้สามารถมองได้ชัดมากยิ่งขึ้น คนสายตาสั้นจึงมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการมองเห็นไม่ชัด โดยเฉพาะจากการขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตอนกลางคืน รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสายตาที่ผิดปกติ

               นอกจากนี้ คนที่มีสายตาสั้น ก็อาจจะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงเกี่ยวกับดวงตาที่เกิดขึ้นตามมา เช่น มีอาการตาล้าหรือปวดหัวเพราะสายตาสั้น เนื่องจากเคยชินกับการเพ่งสายตา เกิดเป็นโรคแทรกซ้อนทางสายตา

    สายตาสั้นเกิดจากอะไรและมีสาเหตุใดบ้าง?

               สายตาสั้นเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ 2 ประการ คือ กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้เมื่อมีแสงมาตกกระทบ แสงจะเกิดการหักเหมากขึ้น รวมถึงขนาดลูกตาที่ยาวมากเกินไป ทำให้ระยะทางระหว่างกระจกตาไปจนถึงจอประสาทตามีความยาวมากกว่าปกติ แสงที่หักเหจึงไปตกกระทบลงที่ด้านหน้าของจอประสาทตา จึงทำให้การมองเห็นของคนสายตาสั้นแตกต่างจากคนที่มีสายตาปกติ คือมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ไม่ชัดเจน

               มีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของสายตาสั้น ได้แก่

    • ปัจจัยจากกรรมพันธุ์ กล่าวคือ หากบิดามารดาหรือคนในครอบครัวมีปัญหาสายตาสั้น ก็จะทำให้บุตรหลานมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสายตาสั้นมากขึ้น
    • ปัจจัยจากเชื้อชาติ กล่าวคือ ชาวเอเชียมีโอกาสที่จะเกิดภาวะสายตาสั้นมากกว่าชาติอื่น ๆ
    • ปัจจัยจากพฤติกรรมประการแรก คือ การทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตามาก ๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น การทำงานหรือเล่นเกมโดยใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมง การเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ รวมถึงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเพ่งสายตาอย่างการอ่านหนังสือในที่มืดหรือที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สายตาสั้นได้
    • ปัจจัยจากพฤติกรรมประการที่ 2 คือ การที่ไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ เนื่องจากแสงตามธรรมชาติจะช่วยกระตุ้นสารโดปามีน (Dopamine) ในสมอง ซึ่งสารโดปามีนมีส่วนช่วยให้ลูกตาเจริญเติบโตปกติ ไม่ผิดรูป จึงทำให้มีโอกาสสายตาสั้นน้อยกว่าผู้ที่มักจะอยู่แต่ในบ้าน

    ผลข้างเคียงจากอาการสายตาสั้น

               คนที่มีสายตาสั้นอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ดังนี้

    • มีอาการตาล้า เมื่อยตา ปวดตา ไปจนถึงปวดศีรษะ เกิดจากการที่เวลามีภาวะสายตาสั้นแล้วมองเห็นวัตถุไม่ชัด สมองจะสั่งให้ดวงตามีการฝืนเพ่งโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยปรับโฟกัสในการมองวัตถุให้ชัดเจนขึ้น เมื่อดวงตามีการฝืนเพ่งค้างไว้นาน ๆ ก็จะทำให้ตาล้า เมื่อยตา และปวดตา รวมถึงปวดศีรษะร่วมด้วย
    • มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เด็กในวัยเรียนที่มีสายตาสั้นแล้วต้องมองกระดานขณะเรียน หากนั่งอยู่หลังห้องก็จะไม่สามารถอ่านตัวหนังสือบนกระดานได้ จึงต้องขยับมานั่งหน้าห้องให้ใกล้กระดานมากขึ้น รวมถึงต้องหรี่ตาเพื่อช่วยในการเพ่งมอง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระการทำงานให้กล้ามเนื้อตา อาจทำให้เด็ก ๆ มีอาการตาเหล่หรือตาเขตามมา 
    • การทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมากขึ้น เช่น การทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร การเล่นกีฬาที่มีความผาดโผน การขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ซึ่งการที่มีสายตาสั้นแล้วมองเห็นไม่ชัด ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง แต่ยังหมายรวมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลรอบข้างด้วย
    • มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะวิธีการแก้ปัญหาสายตาสั้นเพื่อให้สามารถมองเห็นได้อย่างปกติต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการตัดแว่นสายตา การซื้อคอนแทคเลนส์ การทำเลสิก ทั้งนี้ หากมีภาวะสายตาสั้นร่วมกับปัญหาสายตาอื่น ๆ ราคาของแว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่ต้องสั่งตัดพิเศษให้เหมาะกับแต่ละบุคคลก็จะสูงมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังหมายรวมถึงค่าตรวจตาและค่ารักษาโรคที่เกิดจากสายตาสั้นอีกด้วย
    • ก่อให้เกิดโรคตาหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคจอประสาทตาลอก โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน โรคต้อกระจก วุ้นในตาเสื่อม รวมถึงตาพร่ามัว ภาวะตาขี้เกียจในเด็ก ทั้งนี้ การใส่คอนแทคเลนส์สายตาสั้นที่ไม่สะอาดหรือใส่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกตาอักเสบและกระจกตาติดเชื้อ เยื่อบุตาอักเสบ เส้นเลือดฝอยในตาแตก เป็นต้น

    การวินิจฉัยสายตาสั้น

               ในการตรวจสุขภาพตา จะมีขั้นตอนสำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะสายตาสั้น ดังนี้

    1. การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometer) คือ การวัดค่าความดันของของเหลวที่อยู่ภายในลูกตาว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งค่าความดันจะเกิดจากความสมดุลระหว่างการสร้างและการระบายของของเหลวที่อยู่ภายในลูกตา 
      ค่าความดันลูกตาที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคทางตาต่าง ๆ เช่น ค่าความดันที่สูงกว่าปกติ แสดงถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อหินหรือโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบภายในลูกตา ส่วนค่าความดันที่ต่ำกว่าปกติ แสดงถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาลอก
    2. การตรวจวัดความประสานในการทำงานของดวงตา (Binocular Vision) คือ การประเมินว่าดวงตาทั้ง 2 ข้างสามารถทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งจะสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติในการทำงานร่วมกันของดวงตาทั้งคู่
    3. การตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องเรติโนสโคป (Retinoscope) คือ การตรวจวัดเพื่อหาว่ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงหรือไม่ ซึ่งเรติโนสโคป (Retinoscope) จะทำงานโดยการส่องแสงเข้าไปในดวงตา แล้วจักษุแพทย์จะวาดแสงไปมา เพื่อดูการเคลื่อนที่ของแสงที่สะท้อนกลับออกมา
      เรติโนสโคป (Retinoscope) มักจะถูกใช้ในการวัดค่าสายตาสำหรับเด็ก เพราะเป็นการวัดโดยที่ไม่ต้องซักถามถึงลักษณะของภาพที่เด็กมองเห็น โดยจักษุแพทย์จะทำการหยอดยาขยายม่านตาก่อน เพื่อให้สามารถตรวจวัดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจวัดด้วยเครื่องมือนี้ จะมีความแม่นยำกว่าการตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ (Autorefractor) 
    4. การตรวจวัดกำลังสายตาด้วยเครื่องโฟรอพเตอร์ (Phoropter) คือ การตรวจวัดค่าสายตาเพื่อหาว่าเลนส์ที่มีค่าเท่าใดจึงจะช่วยให้สามารถมองเห็นชัดเจนเป็นปกติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอ่านแผนภูมิวัดสายตาผ่านเครื่องโฟรอพเตอร์ (Phoropter) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเลนส์ที่ใส่เข้าไปในเครื่องโฟรอพเตอร์ (Phoropter) เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เลนส์ที่ผู้เข้ารับการตรวจมองผ่านไปแล้วเห็นชัดเจนเป็นปกติ ก็แสดงว่าเลนส์นั้นเป็นเลนส์ที่สามารถแก้ไขความผิดปกติของค่าสายตาได้ แล้วจึงนำค่าสายตาที่ได้จากการตรวจวัดนี้ไปใช้ประกอบกับการตัดแว่นสายตาหรือเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ต่อไป

    วิธีแก้ไขและวิธีรักษาสายตาสั้น

               แม้ว่าสายตาสั้นจะเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันก็มีวิธีแก้สายตาสั้นและวิธีรักษาสายตาสั้นหลายวิธีที่จะช่วยให้คนสายตาสั้นสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ ซึ่งสายตาสั้นมีวิธีแก้ไขและวิธีรักษาดังนี้

    ใส่แว่นสายตา

               การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีการแก้ปัญหาสายตาสั้นที่ง่าย ประหยัด และปลอดภัย โดยคนที่มีปัญหาสายตาสั้นสามารถเข้ารับการตรวจวัดค่าสายตาและตัดแว่นที่มีค่าสายตาเหมาะสมกับตนเองได้ โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน ทั้งนี้ หากเป็นผู้ที่มีสายตายาวและสายตาเอียงร่วมด้วย ก็สามารถสั่งตัดแว่นเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ได้ในอันเดียว

               แม้ว่าการตัดแว่นครั้งหนึ่งจะใช้ได้เป็นระยะเวลาหลายปี แต่ก็ควรหมั่นไปตรวจเช็กค่าสายตาเป็นระยะ เพราะค่าสายตาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หรือหากรู้สึกว่าแว่นที่ใส่อยู่เริ่มมองไม่ชัด แสดงว่าค่าสายตาอาจเพิ่มขึ้น ต้องตัดแว่นใหม่ ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีก นอกจากนี้ การใส่แว่นสายตาอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการเล่นกีฬา

    ใส่คอนแทคเลนส์

               การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นวิธีแก้ปัญหาสายตาสั้นที่คล้ายกับการใส่แว่นตา กล่าวคือ คนที่มีสายตาสั้นสามารถตรวจวัดหาค่าสายตา และเลือกซื้อคอนเทคเลนส์ที่มีค่าสายตาเหมาะสมกับตน ซึ่งการใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ทำให้ภาพลักษณ์เปลี่ยนไปและมีความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ 

               นอกจากนี้ คอนแทคเลนส์ยังมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนแทคเลนส์สายตาสั้นแบบกึ่งนิ่มกึ่งแข็งหรือแบบนิ่ม คอนแทคเลนส์สายตาสั้นแบบรายเดือน แบบรายสัปดาห์ หรือแบบรายวัน ซึ่งคอนแทคเลนส์สายตาสั้นแต่ละแบบก็จะมีราคาต่างกันไป 

               ข้อควรระวังของการใส่คอนแทคเลนส์คือ ต้องหมั่นรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์และดวงตาอย่างดีที่สุดอยู่เสมอ ซึ่งการใส่คอนแทคเลนส์อาจทำให้เกิดอาการตาแห้งหรือระคายเคือง แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียมหยอดที่บริเวณดวงตา ทั้งนี้หากใส่คอนแทคเลนส์แล้วเกิดความผิดปกติ เช่น ตาแดง เคืองตามาก น้ำตาไหลมาก ควรรีบถอดคอนแทคเลนส์และไปพบจักษุแพทย์ 

    การทำเลสิกสายตา

               หากต้องการรักษาสายตาสั้นให้กลับมามีค่าสายตาปกติ ก็มีวิธีการผ่าตัดรักษาสายตาสั้นที่จะช่วยแก้ไขความผิดปกตินี้ได้ ซึ่งการผ่าตัดรักษาสายตาสั้นก็แบ่งออกได้เป็นหลายวิธี ดังนี้

    • Microkeratome LASIK

               เลสิก (Laser-Assisted in Situ Keratomileusis : LASIK) คือ วิธีการปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงสามารถหักเหแล้วตกกระทบไปยังจุดรับภาพบริเวณจอประสาทตาพอดี ซึ่งการทำเลสิก (LASIK) จะใช้ใบมีดจากเครื่อง Microkeratome ผ่าเพื่อแยกชั้นกระจกตา จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตาอีกที นอกจากเลสิกสายตาสั้นแล้ว ยังสามารถทำเลสิกสายตายาวและเลสิกสายตาเอียงได้ด้วย

    • Femto LASIK

               เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) คือ การใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตาเหมือนการทำเลสิก (LASIK) แต่จะต่างกันตรงขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตา ซึ่งเฟมโตเลสิก (Femto LASIK) จะใช้แสงเลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser แทนใบมีด จึงช่วยถนอมดวงตาได้มากกว่า

    • PRK (Photorefractive Keratectomy)

               พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy : PRK) คือ การทำเลสิกโดยไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา แต่จะใช้การลอกเยื่อบุผิวบนกระจกตาชั้นนอกออกแทน จากนั้นค่อยใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา โดยเยื่อบุผิวกระจกตาสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร จึงเป็นวิธีที่เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

    • ReLEx

               รีแลกซ์ (Relex) คือ การทำเลสิกแบบไร้ใบมีด โดยจะใช้เลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser มาช่วยในการแยกชั้นกระจกตาแทน เมื่อแยกชั้นกระจกตาได้แล้ว จะตัดและนำกระจกตาส่วนที่โค้งเกินออกมา เป็นวิธีการรักษาสายตาสั้นและสายตาเอียงที่ส่งผลกระทบต่อกระจกตาน้อยมากและค่าสายตาที่ได้มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ รีแลกซ์ (Relex) ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาสายตายาวที่เกิดจากกระจกตามีความแบนเกินไปได้

               ไอซีแอล (Implantable Collamer Lens : ICL) คือ การใส่เลนส์เสริมเข้าไปบริเวณหลังม่านตาหรือบริเวณหน้าเลนส์แก้วตา โดยเลนส์เสริมนี้จะเป็นเลนส์เสริมถาวร ทำจากวัสดุที่มีความนิ่ม ยืดหยุ่น และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากต้องการถอดเลนส์เสริมออกในอนาคตก็สามารถผ่าออกได้ ซึ่งวิธีนี้ยังมีข้อดีคือสามารถใช้แก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงที่มีค่าความผิดปกติของสายตามาก ๆ ได้ด้วย

    การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะสายตาสั้น

    สายตาสั้น วิธีแก้

               การเกิดภาวะสายตาสั้นนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากสาเหตุของการเกิดประกอบด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างดวงตาตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล แต่แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะสายตาสั้นได้ แต่เราสามารถชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นได้ โดยมีวิธีการดังนี้

    • เข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ 
    • หากเริ่มมีภาวะสายตาสั้น ควรหาทางแก้ไขให้สามารถใช้สายตาได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาที่เหมาะสมกับดวงตา หรือเข้ารับการผ่าตัดกับจักษุแพทย์
    • หากต้องทำกิจกรรมที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานานหรือเป็นประจำ ควรมีการหยุดพักสายตา
    • เมื่อทำกิจกรรมภายนอกบ้าน ควรสวมแว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) 
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ รวมไปจนถึงอาหารที่มีกรดโอเมก้า 3 จะช่วยบำรุงสายตาได้ดี
    • ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะโรคเรื้อรังบางโรคสามารถส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น เมื่อเป็นโรคดังกล่าวแล้ว ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกต้อง

    คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะสายตาสั้น

    สายตาสั้นเท่าไหร่ถึงนับว่าอันตราย?

               หากมีค่าสายตาสั้นมากกว่า – 6.00 ไดออปเตอร์ขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะสายตาสั้นระดับสูงหรือระดับมาก จึงนับว่ามีความอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคหรือภาวะแทรกซ้อนทางสายตา

    สายตาสั้นเท่าไรถึงตาบอด?

               แม้ว่ายิ่งมีค่าสายตามาก ก็จะยิ่งมีปัญหาในการมองเห็นมาก แต่ลำพังแค่ภาวะสายตาสั้นไม่สามารถทำให้ตาบอดได้ โดยสาเหตุของการตาบอดอาจเกิดจากโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมาเนื่องจากการมีสายตาสั้น

    สายตาสั้นจะหยุดตอนไหน?

               ตามปกติแล้ว เมื่อเรามีอายุย่างเข้า 20 ปี ค่าสายตาจะเริ่มคงที่ เพราะร่างกายมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อีก แต่หากมีพฤติกรรมในการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้

    สายตาสั้นแล้วไม่ใส่แว่นจะเป็นอะไรไหม?

               การไม่ใส่แว่นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น แต่การที่มองเห็นไม่ชัดสามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ การที่ดวงตาต้องฝืนเพ่งเพื่อช่วยในการมองเห็นอยู่ตลอด มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาล้า เมื่อยตา ปวดตา และปวดศีรษะ

    หากต้องการทำเลสิก ควรเลือกทำเลสิกที่ไหนดี

               สำหรับผู้ที่มีความสนใจจะทำเลสิก สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเลือกสถานพยาบาลในการทำเลสิกรักษาสายตาสั้นได้ที่นี่ รวมเช็กลิสต์ที่ต้องรู้ไว้ เลือกทำเลสิกที่ไหนดี? 

    สรุปภาวะสายตาสั้น

               สายตาสั้น หรือ Myopia คือภาวะสายตาผิดปกติที่พบได้ทั่วไป ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก แม้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะสายตาสั้น แต่ก็มีวิธีแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาเหมาะสมกับเรา รวมถึงการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อช่วยให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติดังเดิม ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าตนเองมีภาวะสายตาสั้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาและวัดค่าสายตา เพื่อประเมินหาวิธีการแก้ไขหรือรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    เอกสารอ้างอิง 

    Mayo Clinic Staff, (2022, September 16). Nearsightedness. Mayoclinic.
    https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nearsightedness/symptoms-causes/syc-20375556