ตาขี้เกียจ โรคที่เกิดทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ รู้เร็วรักษาได้

ตาขี้เกียจ  (Lazy Eye หรือ Amblyopia) เป็นโรคที่พบได้จำนวน 3 – 5% ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 – 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังมีพัฒนาการทางด้านการมองเห็น ซึ่งตาขี้เกียจมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด จึงเป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของลูก หรือพาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด หากพบว่าเป็นตาขี้เกียจแล้ว การเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้องและรวดเร็วจากจักษุแพทย์ จะทำให้รักษาตาขี้เกียจได้หายตั้งแต่อายุยังน้อย

สารบัญบทความ

    ตาขี้เกียจ คืออะไร

    ตาขี้เกียจ คือ การที่ดวงตาทั้ง 2 ข้างของเด็กมองเห็นชัดไม่เท่ากัน ทำให้เด็กใช้ตาข้างที่ดีหรือตาข้างที่มองเห็นชัดกว่าในการมอง และไม่ได้ใช้ตาอีกข้างในการมองโดยไม่รู้ตัว เพราะเกิดจากการสั่งการของสมอง ทำให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้สูญเสียพัฒนาการในการมองเห็นหรือมีพัฒนาการในการมองเห็นที่น้อยลง กลายเป็น “ตาขี้เกียจ” เมื่อดวงตาทั้ง 2 ข้างมีความสามารถในการมองเห็นไม่เท่ากัน จะทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นโดยรวมของเด็กลดลง

    ลักษณะอาการของตาขี้เกียจ

    ตาขี้เกียจ อาการเป็นอย่างไร ? เนื่องจากตาขี้เกียจมักเกิดในวัยเด็ก และหากไม่มีอาการที่ปรากฏออกมาให้เห็น เช่น ตาเขหรือตาเหล่ จะทำให้ยากต่อการบอกว่าเด็กมีการมองเห็นที่ผิดปกติหรือเป็นโรคตาขี้เกียจ จึงต้องอาศัยการสังเกตจากคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง หรือจากการพาเด็กไปตรวจตากับจักษุแพทย์ แต่เด็กก็จะมีอาการหรือพฤติกรรมที่พอจะบ่งบอกว่าเด็กเป็นตาขี้เกียจได้ ดังนี้

    • เด็กมีตาเขหรือตาเหล่
    • เด็กมีความผิดปกติทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง
    • เด็กมีจุดขาวในตาหรือนัยน์ตามีความขุ่นมัว
    • เด็กมองเห็นภาพไม่ชัด โดยเฉพาะการมองภาพที่มีรายละเอียดสูง ๆ 
    • เด็กมีพฤติกรรมชอบมองเพ่ง มองจ้อง หรี่ตามอง หรือขยับเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อให้มองได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเวลาอ่านหนังสือ
    • เด็กมีพฤติกรรมชอบเอียงหน้าหรือเอียงคอเวลามอง
    • เด็กไม่สามารถกะระยะและวัดระยะความห่างของสิ่งต่าง ๆ ได้
    • เด็กรู้สึกปวดศีรษะ จากการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักมากเกินไป

    สาเหตุโรคตาขี้เกียจ

    ตาขี้เกียจ เกิดจากอะไร ? สาเหตุของโรคตาขี้เกียจมีดังต่อไปนี้

    • เด็กที่มีตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus Amblyopia) เป็นสาเหตุของการเกิดตาขี้เกียจที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติ ทำให้ดวงตาทั้ง 2 ข้าง ไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน เห็นเป็นภาพซ้อน สมองจึงสั่งการให้ใช้ดวงตาข้างที่ปกติในการมอง เมื่อดวงตาถูกใช้มองเพียงข้างเดียว จะทำให้ดวงตาอีกข้างไม่ได้รับการพัฒนา และจะกลายเป็นสายตาขี้เกียจในที่สุด
    • เด็กที่มีค่าสายตาในการมองเห็นผิดปกติ (Refractive Amblyopia) หรือมีภาวะสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงในดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง
    • เด็กที่มีดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน เพราะดวงตาถูกบดบัง (Deprivation Amblyopia) เช่น หนังตาตกจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โรคต้อกระจกแต่กำเนิดทำให้นัยน์ตามีความขุ่นมัว หรือกระจกตาอักเสบและกระจกตาติดเชื้อ ทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง

    การวินิจฉัยภาวะตาขี้เกียจ

    ตรวจภาวะตาขี้เกียจ

    ในเบื้องต้น สามารถสังเกตว่า เด็กมีอาการตาขี้เกียจหรือไม่ ด้วยลักษณะ และพฤติกรรมดังต่อไปนี้

    • ตาเหล่ออก 1 ข้าง ไม่โฟกัส
    • มีพฤติกรรมหรี่ตา 1 ข้าง โดยเฉพาะเวลาที่เจอแสงแดดจ้า
    • มีพฤติกรรมเอียงหัวในตอนใช้สายตา แต่เมื่อสวมแว่น กลับเลิกเอียงหัวในทันที

    อย่างไรก็ตาม ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจให้แน่ใจ โดยแพทย์จะตรวจตาดูความผิดปกติ รวมถึงตรวจวัดค่าสายตา เพื่อเช็กเรื่องปัญหาสายตาที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดตาขี้เกียจ

    วิธีรักษาตาขี้เกียจ

    ตาขี้เกียจ รักษาอย่างไร

    โรคตาขี้เกียจ รักษาอย่างไร ? การรักษาตาขี้เกียจในเด็ก ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะทำให้เด็กมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติสูง โดยเฉพาะหากรักษาก่อนเด็กมีอายุ 8 ปี เพราะเด็กจะยังอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาการทางด้านการมองเห็นอยู่ ซึ่งวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดตาขี้เกียจ ได้แก่

    • หากตาขี้เกียจ lazy eye เกิดจากการที่เด็กมีค่าสายตาผิดปกติ สามารถรักษาได้โดยการให้เด็กสวมแว่นสายตาที่มีค่าสายตาเหมาะสม ซึ่งจะช่วยปรับให้เด็กกลับมามีการมองเห็นเป็นปกติได้
    • การปิดตาไปข้างหนึ่ง โดยอาจจะสวมแว่นตาที่มีเลนส์ทึบข้างหนึ่ง สวมที่ครอบตา ผ้าปิดตา หรือแปะพลาสเตอร์ปิดดวงตาไว้ ในดวงตาข้างที่มีการมองเห็นได้ปกติหรือชัดเจนกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ดวงตาข้างที่มีภาวะตาขี้เกียจ จะทำให้ดวงตาข้างนั้นมีพัฒนาการ จนมีการมองเห็นที่ดีขึ้น โดยระยะเวลาและความนานที่ต้องใช้สำหรับการปิดตาจะขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์เป็นผู้กำหนด
    • การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสารอะโทรปีน (Atropine) หยอดลงในตาข้างที่มีการมองเห็นเป็นปกติหรือมีการมองเห็นที่ชัดเจนกว่า เพื่อจะทำให้ดวงตาข้างนั้นมีความมัวชั่วคราว เป็นการบังคับให้เด็กใช้ดวงตาอีกข้างที่มองเห็นได้ไม่ชัดหรือเป็นตาขี้เกียจในการมองแทน เมื่อตาขี้เกียจถูกใช้งานมากขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการมองเห็นให้ดีขึ้น
    • การผ่าตัดสำหรับโรคตาขี้เกียจในเด็ก สามารถใช้แก้ไขสาเหตุได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นในเด็กที่มีตาเขหรือตาเหล่ เด็กที่มีภาวะหนังตาตกหรือเปลือกตาตก เด็กที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจก รวมถึงโรคทางตาอื่น ๆ เช่น เลือดออกในตา ซึ่งหลังจากการผ่าตัดแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้วิธีการรักษาอื่นอย่างเช่นการปิดตาไปข้างหนึ่งร่วมด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นของเด็กต่อไป

    วิธีป้องกันโรคตาขี้เกียจ

    เมื่อดูจากสาเหตุของการเกิดตาขี้เกียจในเด็กแล้ว จะเห็นว่าเป็นโรคที่ไม่มีวิธีป้องกัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองต้องคอยสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นของเด็ก เด็กบางคนอาจมีอาการให้เห็นตั้งแต่แรกเกิด เช่น มีตาเขหรือตาเหล่ แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีอาการ พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดเมื่อเด็กมีอายุ 3 – 5 ปี รวมถึงหมั่นสังเกตพฤติกรรมการมองเห็นที่ผิดปกติไป ทั้งนี้ อาจมีวิธีทดสอบตาขี้เกียจในเด็กได้อย่างง่าย ๆ โดยการใช้มือปิดตาเด็กข้างหนึ่ง แล้วทดสอบว่าดวงตาอีกข้างมีการมองเห็นที่ชัดเจนหรือไม่ จากนั้นให้ทำสลับกับดวงตาอีกข้าง หากเด็กบอกว่ามีการมองเห็นที่ไม่ชัด นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กอาจจะเป็นตาขี้เกียจนั่นเอง

    ข้อสรุปโรคตาขี้เกียจ

    ตาขี้เกียจมักเกิดขึ้นในวัยเด็กและยากต่อการแสดงอาการ รวมถึงไม่มีวิธีการป้องกัน ดังนั้นพ่อแม่และผู้ปกครองจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นของเด็ก โดยการพาลูกไปตรวจตากับจักษุแพทย์แม้เด็กจะยังไม่มีความผิดปกติในการมองเห็น หรือหากสังเกตพบว่าเด็กมีดวงตาผิดปกติหรือมีพฤติกรรมในใช้สายตาผิดปกติ ก็ควรรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป อย่าลืมว่าโรคสายตาขี้เกียจ ยิ่งรักษาได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะทำให้เด็กมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติสูง หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เด็กมีการมองเห็นที่ผิดปกติต่อไปในระยะยาว

    เอกสารอ้างอิง

    Amblyopia (Lazy Eye). (2022 September 22). NIH.
    https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/amblyopia-lazy-eye