แม้ว่าจะพบเจอได้ไม่บ่อยนัก แต่สายตาสั้นข้างเดียวก็เป็นปัญหาสายตาที่พบเจอได้ในวัยเด็ก โดยสายตาสั้นข้างเดียวเป็นหนึ่งในภาวะที่ดวงตา 2 ข้างมีค่าสายตาแตกต่างกันหรือมีค่าสายตาไม่เท่ากัน (Anisometropia) ซึ่งภาวะนี้สามารถแบ่งออกเป็นอีกหลายประเภท บทความนี้จะมาช่วยคลายข้อสงสัยว่าสายตาสั้นข้างเดียวคืออะไร? เกิดจากอะไรและมีวิธีการแก้ไขยังไง? รวมถึงหากสายตาสั้นข้างเดียวแล้วจะอันตรายไหม?
สายตาสั้นข้างเดียวคืออะไร?
สายตาสั้นข้างเดียว (Monocular Myopia หรือ Unilateral Myopia) คือการที่ดวงตาข้างหนึ่งมีค่าสายตาปกติ แต่อีกข้างหนึ่งมีค่าสายตาเป็นลบ (-) หรือก็คือมีภาวะสายตาสั้น ซึ่งสายตาสั้นข้างเดียวเป็นปัญหาสายตาที่ซับซ้อน เกิดจากการที่ดวงตา 2 ข้างมีค่าสายตาแตกต่างกันหรือมีค่าสายตาไม่เท่ากัน (Anisometropia) ประเภทที่เรียกว่า Simple Anisometropia คือดวงตาข้างหนึ่งปกติ แต่อีกข้างหนึ่งมีภาวะสายตาสั้นหรือภาวะสายตายาว แต่หากดวงตามีสายตาสั้นข้างหนึ่งและสายตายาวข้างหนึ่ง จะจัดอยู่ในประเภท Mixed Anisometropia
ผู้ที่มีสายตาสั้นข้างเดียวจะมีภาวะตาพร่ามัว มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นภาพซ้อน มีปัญหาในการกะระยะ นอกจากนี้ สายตาสั้นข้างเดียวที่ไม่ได้รับการแก้ไข ยังอาจทำให้มีอาการปวดตา ปวดหัวและเวียนหัวอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นข้างเดียว
จากผลการศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสายตาสั้นข้างเดียวมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมดวงตา 2 ข้างที่ควรมีปัจจัยต่าง ๆ เหมือนกันถึงมีค่าสายตาที่แตกต่างกันไปแบบคนละประเภท? แต่หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นแล้ว ก็พอจะอนุมานได้ดังนี้
- พันธุกรรม กล่าวคือ เด็กที่พ่อหรือแม่มีภาวะสายตาสั้นข้างเดียว จะมีโอกาสเกิดภาวะสายตาสั้นข้างเดียวมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งภาวะสายตาสั้นข้างเดียวจะพบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย
- พฤติกรรมและสภาพแวดล้อม เช่น การทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
- การผ่าตัดต้อกระจกในดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
สายตาสั้นข้างเดียว อันตรายไหม
อันตรายซ่อนเร้นของภาวะสายตาสั้นข้างเดียวในวัยเด็ก คือ หากเด็กมีค่าสายตาที่สั้นไม่มาก เด็กอาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็น เพราะใช้ดวงตาข้างที่มีสายตาปกติมองเห็นเป็นหลัก ทำให้ดวงตาข้างที่มีสายตาสั้นข้างเดียวเกิดการพัฒนาที่น้อยกว่าหรือไม่มีการพัฒนา ดวงตาข้างนี้จึงอาจกลายเป็นตาขี้เกียจซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา อนาคตอาจทำให้ดวงตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจสูญเสียการมองเห็นได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว
จากที่ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว การมีสายตาสั้นข้างเดียวจะทำให้เด็กมีภาวะตาขี้เกียจ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาดังนี้
- ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
- ตาเหล่หรือตาเข (Strabismus)
- มองเห็นภาพซ้อน (Diplopia)
- ดวงตาไวต่อแสงหรือตาแพ้แสง (Light Sensitivity หรือ Photophobia)
การวินิจฉัยสายตาสั้นข้างเดียวสามารถทำได้อย่างไร?
ภาวะสายตาสั้นข้างเดียวที่เกิดขึ้นในเด็ก มักจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรพาเด็ก ๆ ไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพราะนอกจากจะช่วยตรวจหาค่าสายตาที่ผิดปกติแล้ว ยังสามารถตรวจหาโรคตาต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่มีอาการแสดงปรากฏออกมาให้เห็นได้ด้วย ซึ่งขั้นตอนการตรวจมีดังนี้
- การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometer) คือ การตรวจวัดค่าความดันของของเหลวที่อยู่ภายในลูกตาว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ โดยจะใช้เครื่องนิวเมเธอะนอมิเตอร์ (Pneumotonometer) เป่าลมเข้าไปในดวงตา ซึ่งค่าความดันลูกตาที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคทางตาต่าง ๆ เช่น โรคต้อหินหรือโรคจอประสาทตาลอก แต่มักจะไม่พบในวัยเด็ก
- การตรวจวัดความประสานในการทำงานของดวงตา (Binocular Vision) คือ การประเมินว่าดวงตาทั้ง 2 ข้างสามารถทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งจะสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติในการทำงานร่วมกันของดวงตาทั้งคู่
- การตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องเรติโนสโคป (Retinoscope) คือ การตรวจวัดเพื่อหาว่ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงหรือไม่ ซึ่งเรติโนสโคป (Retinoscope) มักจะถูกใช้ในการวัดค่าสายตาสำหรับเด็ก
- การตรวจวัดกำลังสายตาด้วยเครื่องโฟรอพเตอร์ (Phoropter) คือ การตรวจวัดค่าสายตาเพื่อหาว่าเลนส์ที่มีค่าเท่าใดจึงจะช่วยให้สามารถมองเห็นชัดเจนเป็นปกติ โดยเด็กจะต้องอ่านแผนภูมิวัดค่าสายตาผ่านเครื่องโฟรอพเตอร์ (Phoropter) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเลนส์ที่ใส่เข้าไปในเครื่องเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เลนส์ที่เด็กมองผ่านไปแล้วเห็นชัดเจนเป็นปกติ แล้วจึงนำค่าของเลนส์ที่ได้ไปใช้ประกอบกับการตัดแว่นสายตาหรือเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ต่อไป
วิธีรักษาสายตาสั้นข้างเดียว
สายตาสั้นข้างเดียวในเด็กมีวิธีรักษาคล้ายกับวิธีแก้สายตาสั้น แต่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดดังนี้
ใส่แว่นสายตา
เชื่อว่าผู้ปกครองคงมีคำถามว่า หากเด็ก ๆ มีสายตาสั้นข้างเดียวจะตัดแว่นแค่ข้างเดียวได้ไหม? คำตอบคือ สามารถทำได้ โดยจะเป็นการตัดแว่นที่เลนส์ข้างหนึ่งมีค่าสายตาสั้น ส่วนเลนส์อีกข้างหนึ่งไม่มีค่าสายตา แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีค่าสายตาสั้นไม่เกิน 200 เท่านั้น เพราะหากมีค่าสายตาสั้นมากกว่านี้ การใส่แว่นสายตาจะทำให้เห็นภาพซ้อน รวมถึงมีภาวะที่ดวงตาทั้ง 2 เห็นวัตถุเดียวกันมีขนาดและรูปร่างต่างกัน (Aniseikonia) อีกทั้งเมื่อใส่แว่นไปนาน ๆ ยังจะทำให้มีอาการตาล้า ปวดตาและปวดหัว
ทั้งนี้ การที่เด็กจะใส่แว่นสายตาประเภทนี้ได้ ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เคยชิน และในอนาคตก็มีโอกาสที่ค่าสายตาจะเพิ่มมากขึ้น หากมีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ก็จะไม่สามารถใส่แว่นสายตาประเภทนี้ได้อีกต่อไป ดังนั้น การใส่แว่นสายตาจึงเป็นวิธีแก้สายตาสั้นข้างเดียวที่ไม่ได้รับความนิยม
ใส่คอนแทคเลนส์
วิธีแก้สายตาสั้นข้างเดียวโดยการใส่คอนแทคเลนส์ จะสามารถทำได้โดยการใส่คอนแทคเลนส์เฉพาะข้างที่มีสายตาสั้นเพียงข้างเดียว โดยสายตาสั้นข้างเดียวมีประเภทของคอนแทคเลนส์ที่ใช้ ดังนี้
- คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง (Rigid Gas Permeable Contact Lens : RGP) เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีลักษณะค่อนข้างแข็งทำให้มีรูปร่างคงที่ ทำจากวัสดุพิเศษที่ทำให้ออกซิเจนซึมผ่านได้ดี ข้อดีคือเป็นคอนแทคเลนส์ที่ช่วยลดปัญหาการมองเห็นภาพซ้อนและมีอายุการใช้งานนาน แต่ข้อเสียคือ คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จะสามารถเคลื่อนที่ไปมาบนชั้นน้ำตาได้ จึงอาจทำให้เคืองตา ต้องใช้เวลาปรับตัวในการใส่ และไม่เหมาะที่จะใส่ทำกิจกรรมที่มีการกระแทก เช่น การเล่นกีฬาประเภทต่อสู้
- คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Lens) เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีลักษณะนิ่ม ยืดหยุ่น และบิดงอได้ ทำจากพลาสติกจำเพาะที่อุ้มน้ำได้มากกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง (RGP) จึงมีข้อดีคือใส่สบายกว่าและได้รับความนิยมมากกว่า แต่มีข้อเสียคือฉีกขาดได้ง่ายกว่า
- คอนแทคเลนส์กดตา (Orthokeratology lens : Ortho-K) เป็นคอนแทคเลนส์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาชั่วคราว ช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้นแบบไม่ถาวร วิธีการใช้คือใส่ขณะนอนหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาให้ถอดออก จะทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ในระหว่างวัน อีกทั้งยังช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นอีกด้วย
คอนแทคเลนส์กดตา (Ortho-K) เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาเจาะจงเฉพาะบุคคล ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ดังนั้น หากต้องการใส่คอนแทคเลนส์ประเภทนี้ จะต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ก่อน
การทำเลสิกสายตา
วิธีการรักษาสายตาสั้นข้างเดียวด้วยการทำเลสิก (LASIK) จะทำการผ่าตัดในดวงตาข้างที่มีสายตาสั้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้วิธีการทำได้ใน 4 เทคนิค คือ
- Microkeratome LASIK
เลสิก (Laser-Assisted in Situ Keratomileusis : LASIK) คือ การใช้ใบมีดจากเครื่อง Microkeratome ในการผ่าเพื่อแยกชั้นกระจกตา จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา
เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) คือ การใช้เลเซอร์จากเครื่อง Femtosecond Laser ในการแยกชั้นกระจกตา จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา
- PRK (Photorefractive Keratectomy)
พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy : PRK) คือ การทำเลสิกโดยไม่แยกชั้นกระจกตา แต่จะใช้การลอกเยื่อบุผิวบนกระจกตาชั้นนอกออก จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ยิงปรับความโค้งของกระจกตา โดยเยื่อบุผิวกระจกตาจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เอง
ReLEx SMILE Pro คือ เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ใช้เวลาการยิงเลเซอร์เพียง 8-10 วินาที ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เพิ่มความสบายตาในขณะผ่าตัด สามารถมองเห็นได้รวดเร็วขึ้น
สรุปภาวะสายสั้นข้างเดียว
สายตาสั้นข้างเดียว เป็นหนึ่งในปัญหาสายตาที่พบได้ในวัยเด็ก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยส่วนมากมักจะพบเมื่อมีอาการสายตาสั้นข้างเดียวอย่างรุนแรงไปแล้ว หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมา ดังนั้น การพาเด็ก ๆ ไปตรวจสุขภาพตาก็จะช่วยให้พบปัญหานี้เร็วขึ้น และสามารถรักษาหรือแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนที่ดวงตาข้างที่มีภาวะสายตาสั้นข้างเดียวจะกลายเป็นตาขี้เกียจไป
เอกสารอ้างอิง
Kimberley Ngu. (2021, October 11). Managing unilateral myopia. Myopia Profile. https://www.myopiaprofile.com/articles/managing-unilateral-myopia
Anisometropia. (2022, April 10). Cleveland Clinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24274-anisometropia