กระจกตาย้วย เป็นอีกหนึ่งโรคตาที่เป็นอันตรายต่อการมองเห็นของเรา ใครที่สังเกตว่า ตนเองต้องตัดแว่นหรือเปลี่ยนค่าสายตาคอนแทคเลนส์บ่อย ๆ ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคนี้หรือไม่ แล้วทำไมโรคนี้จึงเป็นอันตรายต่อการมองเห็น ? มาทำความรู้จักโรคกระจกตาย้วยในบทความนี้ รู้เร็ว รีบรักษา ยับยั้งความรุนแรงได้
กระจกตาย้วย (Keratoconus) คืออะไร
กระจกตาย้วย Keratoconus คือ ลักษณะของกระจกตาที่นูน โก่งโค้งออกมาผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง โดยมักพบในกลุ่มช่วงอายุ 20 ถึง 30 ปี รวมถึงยังเป็นข้อจำกัดของการรักษาปัญหาสายตาอย่างการทำเลสิก
อาการของกระจกตาย้วย
อาการของกระจกตาย้วย (Keratoconus) มักเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง โดยความรุนแรงของอาการในแต่ละข้าง อาจมีความแตกต่างกัน
- กระจกตาโก่งออกมาผิดปกติจนทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น และสายเอียง
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
- ตาไม่สู้แสง
- ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้
สาเหตุของกระจกตาย้วย
กระจกตาย้วยเกิดจากความผิดปกติในการสร้างคอลลาเจนของโครงสร้างในชั้นกระจกตาหรือการที่คอลลาเจนในชั้นกลางของกระจกตาไม่แข็งแรง และบาง ทำให้บริเวณตรงกลางของกระจกตาถูกความดันในลูกตาดันออกมาจนมีลักษณะกระจกตาโก่ง ยื่นออกมาข้างหน้า ย้วยลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกระจกตาย้วย
นอกจากสาเหตุคอลลาเจนในชั้นตาไม่แข็งแรงที่ทำให้เกิดกระจกตาย้วยแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคกระจกตาย้วยนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- กรรมพันธุ์
- การเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต
- พฤติกรรมการขยี้ตาอย่างแรงเป็นประจำ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
- การใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานาน
- การทำเลสิก เนื่องจากหลังทำเลสิก กระจกตาจะบางลง
ภาวะแทรกซ้อนของกระจกตาย้วย
เมื่อเป็นโรคกระจกตาย้วยหรือกระจกตาโก่ง (Keratoconus) อาจมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น กระจกตาเกิดการบวมน้ำ เกิดรอยแผลจนกลายเป็นแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาย้วย
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาย้วย จักษุแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพ และตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ของดวงตา เช่น การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ slit lamp, การวัดความโค้งของกระจกตาด้วยเครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer), การถ่ายภาพกระจกตา, การวัดกำลังสายตา รวมถึงการตรวจด้วยเครื่อง Corneal tomography ที่จะสามารถตรวจดูความหนา ความโก่งของกระจกตาได้อย่างละเอียด
วิธีการรักษากระจกตาย้วย
เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงโดยละเอียดจากจักษุแพทย์แล้ว สามารถรับการรักษาตามระยะความรุนแรง โดยผู้ที่เป็นโรคกระจกตาย้วย ในระยะแรกหรือในระยะที่อาการไม่รุนแรง สามารถสวมแว่นตา เพื่อให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น รวมถึงสามารถใส่คอนแทคเลนส์ทั้งชนิดธรรมดาหรือชนิดพิเศษที่สามารถโค้งรับกับความย้วยของกระจกตาได้
นอกเหนือจากการใส่แว่นตา และคอนแทคเลนส์ โรคกระจกตาย้วย รักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การฉายแสง (Cross-Linking)
การฉายแสงหรือ Cross-Linking คือการฉายแสงอัลตราไวโอเลต พร้อมหยอดวิตามินบีลงบนดวงตา เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ชะลอความรุนแรงของกระจกตาย้วย ไม่ให้กระจกตาโก่งออกมามากขึ้น
การใส่วงแหวน
อีกหนึ่งการรักษาโรคกระจกตาย้วย คือ การผ่าตัดใส่อุปกรณ์เสริมภายในดวงตาหรือการใส่วงแหวน เพื่อดันลักษณะกระจกตาย้วยให้กลับมาอยู่ในรูปร่างใกล้เคียงกับกระจกตาปกติมากที่สุด โดยหลังจากผ่าตัดใส่วงแหวนแล้ว ผู้ป่วยสามารถสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อการมองเห็นที่ชัดมากยิ่งขึ้น
การปลูกถ่ายกระจกตา
วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่ง คือ การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีสำหรับคนที่มีอาการรุนแรง และไม่สามารถรักษากระจกตาย้วยด้วย 3 วิธีข้างต้น โดยแพทย์จะนำกระจกตาที่แข็งแรงจากการรับการบริจาค มาแทนที่กระจกตาที่มีปัญหาของผู้ป่วย โดยหลังการผ่าตัด การมองเห็นจะดีขึ้น
วิธีการป้องกันกระจกตาย้วย
โรคกระจกตาย้วยไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดได้
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลต
- สวมแว่นตากรองแสงสีฟ้าจากหน้าจอสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และพยายามพักสายตาเป็นระยะ หลีกเลี่ยงการใช้สายตามากเกินไป
- หลีกเลี่ยงการถูขยี้ตา เนื่องจากพฤติกรรมการขยี้ตา ส่งผลกระทบให้ต่อโรคกระจกตาย้วยมีอาการแย่ลง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกระจกตาย้วย inZ Hospital รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับกระจกตาย้วยไว้แล้ว
กระจกตาย้วย ทำเลสิกได้ไหม
กระจกตาย้วย ทำเลสิกได้ไหม ? การเป็นโรคกระจกตาย้วย เป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการทำเลสิก เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ มีกระจกตาที่บาง การทำเลสิกด้วยการใช้เลเซอร์เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตาจะยิ่งทำให้อาการของโรคนั้นแย่ลงกว่าเดิม ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาปัญหาสายตาด้วยวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด
กระจกตาย้วย กลับมาเป็นซ้ำได้ไหม
การรักษากระจกตาย้วยหรือกระจกตาโก่ง คือ การรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดมากขึ้นเพียงเท่านั้น จึงมีโอกาสที่อาการจะพัฒนาอีกได้ อย่างไรก็ตาม ควรเข้าพบจักษุแพทย์ ตรวจดูอาการ และความรุนแรง เพื่อทำการรักษาชะลอ และยับยั้งความรุนแรง
ข้อสรุปของกระจกตาย้วย
โรคกระจกตาย้วย เป็นโรคที่เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนของโครงสร้างกระจกตาไม่แข็งแรง ทำให้ความดันในลูกตาดันออกมาจนกระจกตามีลักษณะนูนโก่ง ย้วยลงตามแรงโน้มถ่วงโลก สามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ผ่าตัด แม้ว่า กระจกตาย้วยเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคได้ เช่น หลีกเลี่ยงรังสียูวีจากแสงแดด หลีกเลี่ยงการถูขยี้ตาแรง ๆ
เอกสารอ้างอิง
Keratoconus. (n.d.). clevelandclinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14415-keratoconus
Keratoconus. (2023, April 5). mayoclinic.
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/keratoconus/symptoms-causes/syc-20351352#:~:text=Keratoconus%20
Kierstan Boyd. (2023, December 8). AMERICAN ACADEMY OF OPHTHALMOLOGY.
https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-keratoconus