กระจกตา ส่วนสำคัญในการมองเห็น อย่าปล่อยให้อักเสบหรือติดเชื้อ

ดวงตาของเราประกอบไปด้วยหลากหลายส่วน เพื่อที่จะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดย ‘กระจกตา’ นับว่า เป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากหากเราสูญเสียกระจกตาไป จะส่งผลกระทบต่อการมองเห็น มาทำความรู้จักกระจกตา และรู้ทันอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อกระจกตาของเราในบทความนี้

สารบัญบทความ

    กระจกตา คืออะไร

    กระจกตา คืออะไร

    กระจกตาเป็นส่วนชั้นนอกสุดของดวงตา มีลักษณะใส ไม่มีสี รูปร่างโค้งเป็นโดม ทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ รวมถึงกระจกตามีหน้าที่ในการหักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตาของเรา ทำงานร่วมกับเลนส์ตา ส่งผลให้กระจกตามีบทบาทสำคัญในเรื่องการมองเห็นอีกด้วย

    กระจกตามีกี่ชั้น

    กระจกตาของเรามีเลเยอร์หรือชั้นทั้งหมด 5 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีหน้าที่แตกต่างกันไป

    กระจกตาชั้นนอก (Epithelium layer)

    Epithelium หรือกระจกตาชั้นนอกสุด ทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หากเกิดความเสียหายหรือเป็นแผล สามารถงอกตัวหรือสมานได้เร็ว

    ชั้นเยื่อรับรองผิว (Basement membrane)

    ชั้นกระจกตาที่สร้างจากคอลลาเจน ช่วยยึดโครงสร้าง และคงรูปร่างของกระจกตา

    กระจกตาชั้นกลาง (Stroma)

    Stroma คือ ชั้นกระจกตาที่มีความหนามากที่สุดจากทั้ง 5 ชั้น ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างกระจกตา

    ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane)

    Descemet’s layer คือ ชั้นกระจกตาที่มีความแข็งแรง และยืดหยุ่น ช่วยปกป้องดวงตาจากการติดเชื้อหรือบาดเจ็บ

    ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial cell)

    Endothelium เป็นชั้นกระจกตาที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณของเหลวในกระจกตา และภายในดวงตาของเรา 

    โรคหรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับกระจกตา

    ปัญหาหรือโรคเกี่ยวกับกระจกตาที่สามารถพบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

    กระจกตาอักเสบ

    ปัญหากระจกตาอักเสบ สามารถเกิดได้จากการติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่หากปล่อยทิ้งไว้ สามารถเป็นอันตราย เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นได้ โดยกระจกตาอักเสบ เกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา การได้รับอุบัติเหตุ การถูกขีดข่วนจนกระจกตาเป็นแผล และอื่น ๆ อีกมากมาย มักแสดงอาการปวด เคืองตา ตาแดง ตาพร่ามัว และอื่น ๆ อีกมากมาย หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด

    กระจกตาโก่ง / ผิดรูป

    โรค Keratoconus หรือกระจกตาโก่ง คือ โรคที่กระจกตาโก่งนูนออกมามากผิดปกติ และย้วยลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ก่อให้เกิดภาวะสายตาสั้น และสายตาเอียง รวมถึงเป็นสาเหตุของอาการตาไม่สู้แสง ปวดศีรษะ นอกจากนี้โรคกระจกตาย้วย ยังเป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหาสายตาด้วยเลเซอร์อย่างเลสิกอีกด้วย

    เป็นแผลที่กระจกตา

    การเป็นแผลที่กระจกตาสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด เช่น กระจกตาถลอกจากคอนแทคเลนส์ ตาแห้ง เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเป็นแผลที่มาจากการติดเชื้อ โดยหลังรับการรักษา แผลที่กระจกตาอาจทิ้งเป็นรอยแผลเป็น ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นรอยขุ่นที่บริเวณกระจกตาได้

    กระจกตาเสื่อม

    กระจกตาเสื่อม เกิดจากการที่เซลล์กระจกตาเกิดการเสื่อมสภาพ สามารถก่อให้เกิดอาการมองเห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพเบลอได้ 

    กระจกตาติดเชื้อ

    เมื่อกระจกตาติดเชื้อ สามารถนำไปสู่ภาวะกระจกตาอักเสบได้ โดยสาเหตุการติดเชื้อ มักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อปรสิต ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค ควรเข้ารับการรักษาในทันที ก่อนอาการจะรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อการมองเห็น

    กระจกตาบาง

    โดยปกติแล้ว กระจกตาจะมีความหนาประมาณ 500 ไมครอน ดังนั้น ผู้ที่มีกระจกตาบาง คือ ผู้ที่ตรวจตาวัดความหนาของกระจกตาแล้ว น้อยกว่าค่าดังกล่าว โดยกระจกตาบาง สามารถเกิดได้จากทางพันธุกรรมหรือโรคทางตา เช่น โรคกระจกตาโก่ง  ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำเลสิก 

    ภาวะปฏิเสธกระจกตาที่ปลูกถ่าย

    ภาวะปฏิเสธกระจกตาที่ปลูกถ่ายหลังการผ่าตัด มักจะมีอาการตาแดง ระคายเคือง มองเห็นไม่ชัด และมักเกิดขึ้นประมาณ 14 วันจนถึง 1 ปีหลังการผ่าตัด หากมีอาการผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์ในทันที

    อาการที่บ่งบอกว่า กระจกตามีปัญหา

    อาการผิดปกติ กระจกตาเป็นฝ้า

    ลักษณะอาการที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของกระจกตา ไม่ว่าจะเป็น

    • ปวดตา ตาพร่ามัว
    • ระคายเคือง
    • ตาแดง
    • น้ำตาไหลมาก มีขี้ตา
    • กระจกตาขุ่นมัว กระจกตาเป็นฝ้า
    • ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย
    • ตาแพ้แสง

    ข้อปฏิบัติในการดูแลกระจกตา

    ดูแลป้องกันกระจกตาเสื่อม

    การดูแลกระจกตา เพื่อชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคทางกระจกตา ไม่ว่าจะเป็นกระจกตาอักเสบ กระจกตาถลอก แผลในกระจกตา กระจกตาเสื่อม และอื่น ๆ สามารถทำได้ด้วยการลดความเสี่ยงหรือการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็น 

    • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หากพบความผิดปกติของกระจกตาจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที
    • รักษาสุขอนามัยของคอนแทคเลนส์ และไม่นอนหลับโดยที่ยังไม่ถอดคอนแทคเลนส์
    • ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ที่มีรอยฉีกขาด
    • หลีกเลี่ยงการถูขยี้ตาแรง ๆ 
    • สวมแว่นตาป้องกัน เมื่อต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
    • หากมีอาการตาแห้ง ควรหยอดน้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการ

    ข้อสรุปเกี่ยวกับกระจกตา

    กระจกตา เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าหรือชั้นนอกสุดของดวงตา มีลักษณะใส โค้งเป็นโดม มีหน้าที่ในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา และหักเหแสงเข้าสู่ดวงตา กระจกตาจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการมองเห็น และการดำเนินชีวิต หากเกิดอาการผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นตาแดง ตาแพ้แสง ตาพร่ามัว เคืองตา น้ำตาไหลมาก รวมถึงอาการกระจกตาอักเสบติดเชื้อ สิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด 

    เอกสารอ้างอิง

    Cornea. (n.d.). clevelandclinic.
    https://my.clevelandclinic.org/health/body/21562-cornea 

    Julie Marks. What Is a Cornea?. (2023, November 16). webmd.
    https://www.webmd.com/eye-health/cornea-conditions-symptoms-treatments