กระจกตา (Cornea) คือ เนื้อเยื่อโปร่งใสที่ไม่มีสี ลักษณะเป็นโดมโค้ง ปกคลุมอยู่บริเวณชั้นนอกสุดของดวงตา โดยปกติแล้วกระจกตาจะต้องมีความใส ผิวเรียบ มีความโค้งที่เหมาะสม ซึ่งกระจกตาจะทำหน้าที่ในการหักเหแสงและคอยปกป้องดวงตา จึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากกระจกตาอักเสบและติดเชื้อ จนทำให้เกิดเป็นฝ้าหรือแผลเป็นขึ้น ก็จะส่งผลต่อการมองเห็นได้
กระจกตาอักเสบ คืออะไร
กระจกตาอักเสบ (Keratitis) คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อกระจกตา ซึ่งกระจกตาเป็นส่วนที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรกที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เข้าสู่ดวงตา และยังทำหน้าที่ในการหักเหแสงเพื่อให้ตกกระทบไปยังจุดรับภาพบนจอประสาทตาพอดี หากกระจกตาผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดปัญหาสายตา ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
กระจกตาอักเสบ สาเหตุการเกิดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประการ ประการแรก คือ กระจกตาติดเชื้อ ประการที่ 2 คือ กระจกตาอักเสบแบบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมักจะเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย สัมพันธ์กับโรคประจำตัว หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือการขาดสารอาหาร เช่น วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นต้น
อาการของกระจกตาอักเสบ
อาการกระจกตาอักเสบเป็นอย่างไร ? โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดกระจกตาอักเสบ อาการจะมีดังต่อไปนี้
- คันตา เคืองตา ตาแห้ง ตาแดง ปวดตา ตาพร่ามัว และอาจมีอาการเปลือกตาบวมร่วมด้วย
- มีน้ำตาไหลออกมามากกว่าปกติ
- ถ้ากระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ มักจะมีขี้ตาเยอะ โดยอาจมีลักษณะขี้ตาเป็นหนอง มีสีเขียวเหลือง
- ลืมตาลำบากหรือลืมตาไม่ขึ้น เพราะรู้สึกเจ็บตา ระคายเคืองตา
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
- ตาแพ้แสง หรือดวงตามีความไวต่อแสง
- เมื่อมองเข้าไปในดวงตาจะเห็นกระจกตามีสีขาว เทา หรือเหลือง มีความขุ่นทึบ
สาเหตุการเกิดกระจกตาอักเสบ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระจกตาอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ประการ ดังนี้
สาเหตุกระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ
กระจกตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ มักมีสาเหตุของการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อปรสิต โดยกระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียจะเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด
- กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดจากแบคทีเรีย 3 ประเภท ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas Aeruginosa ซึ่งมักพบบนคอนแทคเลนส์ เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus ซึ่งเป็นเชื้อทั่วไปที่พบได้บริเวณรอบดวงตา และเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae ซึ่งสามารถพบได้หลังจากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา หรือหลังการผ่าตัดดวงตา
- กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส มักเกิดจากเริม (Herpes Simplex) และงูสวัด (Herpes Zoster)
- กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อรา เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยมักจะพบในผู้ที่ทำการเกษตรกรรมจำพวกไร่นาหรือสวนต่าง ๆ เช่น เกิดมีใบหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ มาเกี่ยวที่บริเวณดวงตา ทำให้กระจกตาเกิดรอยถลอก ส่งผลให้กระจกแก้วตาอักเสบ และติดเชื้อตามมา
- กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อปรสิต เช่น เชื้อ Acanthamoeba ซึ่งการติดเชื้อปรสิตมักมาจากน้ำที่ปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำในแม่น้ำและลำคลอง น้ำประปา สระว่ายน้ำ อ่างน้ำร้อน เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำหรือลงเล่นน้ำก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเชื้อ Microsporidia ที่พบได้ในดิน โคลน น้ำบ่อและน้ำบาดาล
สาเหตุกระจกตาอักเสบที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
หากกระจกตาอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
- การบาดเจ็บที่กระจกตา เช่น จากการขยี้ตาบ่อย ๆ หรือการที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในดวงตา จนทำให้พื้นผิวกระจกตามีรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน สามารถทำให้กระจกตาอักเสบติดเชื้อได้
- คนที่มีปัญหาในการกะพริบตาหรือเวลานอนหลับตาไม่สนิท
- โรคตา เช่น ตาแห้งเรื้อรัง ตาแดง ตาอักเสบ เปลือกตาผิดรูป
- การเจ็บป่วยทางร่างกายอื่น ๆ เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ตัวอย่างเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) รวมถึงการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การที่ร่างกายขาดวิตามินเอ (Vitamin A) การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้
- ปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ขณะทำงานเชื่อม ได้รับแสงไฟสีม่วงที่ใช้ฆ่าเชื้อในตู้ปลา การเข้ารับการรักษาด้วยรังสีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระจกตาอักเสบ
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบได้ ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี เช่น ใส่คอนแทคเลนส์นานกว่า 8 ชั่วโมง , ใส่นอน ,ใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่มีภาวะเยื่อบุตาอักเสบ , ใส่คอนแทคเลนส์ทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ รวมถึงการล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ได้ไม่ดีพอ
- การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- การได้รับอุบัติเหตุที่บริเวณดวงตา ทำให้เกิดรอยถลอกที่ผิวกระจกตา
- ตาแห้ง
ภาวะแทรกซ้อนของกระจกตาอักเสบ
หากเป็นกระจกตาอักเสบ และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้ เช่น อักเสบเรื้อรังจนเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ความสามารถในการมองเห็นแย่ลง ,เกิดการติดเชื้อซ้ำ และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาอักเสบ
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาอักเสบ จักษุแพทย์จะซักประวัติ พร้อมตรวจตาดูอาการ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์หรือเครื่องมือที่เรียกว่า slit-lamp ในการตรวจหาความผิดปกติของกระจกตา รวมถึงอาจมีการเก็บตัวอย่างน้ำตา เนื้อเยื่อกระจกตา นำไปตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุการเกิด ประเมินอาการความรุนแรงของโรคกระจกตาอักเสบ และวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การรักษาโรคกระจกตาอักเสบ
กระจกตาอักเสบ รักษาได้อย่างไร ? หากเป็นโรคกระจกตาอักเสบจะต้องทำการรักษากับจักษุแพทย์ โดยจักษุแพทย์จะทำการรักษาภายหลังจากวินิจฉัยถึงสาเหตุการเกิด ในรายที่กระจกตาอักเสบอย่างรุนแรง เช่น การติดเชื้อลุกลามจนไม่สามารถใช้ยาควบคุมอาการได้ จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นทั้งหมด
รักษากระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ
กระจกตาติดเชื้อ รักษาโดยจักษุแพทย์อาจจะต้องทำการขูดผิวของกระจกตาบริเวณที่ติดเชื้อ แล้วส่งตรวจเพิ่มเติม เพราะต้องนำมาเพาะเชื้อดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด จากนั้นจึงพิจารณารักษาตามชนิดของเชื้อก่อโรค
รักษากระจกตาอักเสบที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
วิธีรักษากระจกตาอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ โดยการใช้ยาชนิดนี้ จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
วิธีป้องกันกระจกตาอักเสบ
กระจกตาอักเสบเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
- หากมีอาการตาแห้งให้ใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตา หยอดที่ดวงตาเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
- สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปเผชิญแสงแดดจ้า เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
- สวมแว่นป้องกันขณะทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยในการบำรุงสายตา
อีกทั้ง สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระจกตาดำอักเสบและติดเชื้อมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ ดังนั้น การดูแลรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการใส่ การถอด การล้างเพื่อเก็บ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง ร่วมกับการใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และจัดเก็บคอนแทคเลนส์ในตลับที่สะอาด
ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป หากจะให้ดีที่สุดคือไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันนานเกิน 8 ชม. และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน ควรถอดคอนแทคเลนส์ก่อนว่ายน้ำ หรือก่อนลงเล่นน้ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุหรือไม่มีอย.
หากใส่คอนแทคเลนส์แล้วพบว่าดวงตามีความผิดปกติ เช่น คันตา ระคายเคืองตา ตาแดง ตาบวม ให้รีบถอดคอนแทคเลนส์ออก แล้วไปพบจักษุแพทย์ทันที
ข้อสรุปของกระจกตาอักเสบ
โรคกระจกตาอักเสบเป็นโรคทางตาที่มักมีสาเหตุนำมาก่อน จึงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่หากเป็นแล้วมีความรุนแรงมาก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดแผลเป็นที่กระจกตา หรือมีการติดเชื้อลุกลามจนกระจกตาทะลุ เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวร แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา แต่ในประเทศไทยก็ยังมีผู้ที่รอรับการบริจาคกระจกตาเป็นจำนวนมาก ทำให้อาจจะต้องใช้เวลารอหลายปี ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้กระจกตาอักเสบ
เอกสารอ้างอิง
Kristeen Cherney. (2017 June, 15)What Is Keratitis?. healthline.
https://www.healthline.com/health/keratitis