เลนส์ตาเทียม คืนการมองเห็นให้ชัดเจนตัวช่วยของผู้ป่วยต้อกระจก

ต้อกระจก” เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดความขุ่นขึ้นมาในเลนส์ตา เกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากปัจจัยด้านอายุแล้ว การได้รับรังสียูวีเป็นเวลานาน ๆ โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน การรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรืออุบัติเหตุทางตา ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะต้อกระจกขึ้นมาได้

เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น คือมีความขุ่นมากขึ้นในเลนส์ตาธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น วิธีการรักษาจะเป็นการผ่าตัด และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปทดแทน

เรียกได้ว่าเลนส์ตาเทียม เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสายตา สำหรับผู้ที่มีปัญหาการมองเห็นไม่ชัดเจนเนื่องจากการเป็นต้อกระจก ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดเจนขึ้นเหมือนเดิม

สารบัญบทความ

    เลนส์ตาเทียม คืออะไร มีกี่แบบ ?

    เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular Lens) คือวัสดุที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใส่เข้าไปในตา ทำหน้าที่หักเหแสง คล้ายกับเลนส์ตาธรรมชาติ ใช้ในการรักษาโรคต้อกระจก และยังสามารถแก้ไขค่าสายตาผิดปกติร่วมด้วย เดิมเลนส์ตาเทียม จะมี 2 แบบ คือ

    1. เลนส์ตาเทียมชนิดแข็ง เป็นชนิดแรกๆ ที่เริ่มใช้ในการรักษา  ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.0 ถึง 6.5 มิลลิเมตร จึงมักใช้สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่
    2. เลนส์ตาเทียมชนิดนิ่ม เป็นเลนส์ที่สามารถพับได้ มีความนิ่ม จึงสามารถผ่าตัดเป็นแบบแผลเล็กขนาด 3 มม.ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

    เลนส์ตาเทียมกับประโยชน์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    เลนส์ตาเทียม

    โดยในปัจจุบันมีการพัฒนาเลนส์แก้วตาเทียมให้มีประสิทธิภาพจนสามารถใช้ทดแทนกับเลนส์ตาธรรมชาติได้สมจริงมากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะรักษาโรคต้อกระจก ยังมีการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เพื่อรักษาปัญหาโรคตา จากค่าสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ซึ่งเลนส์ตาเทียม
    ก็จะทำหน้าที่รวมแสง แก้ไขค่าสายตา ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นชัดเจนได้ยิ่งขึ้น

    เลนส์ตาเทียม มีกี่ชนิด แบบไหนเหมาะเหมาะกับคุณ ? 

    ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีของเลนส์ตาเทียม ที่ใช้แก้ปัญหาสายตานั้นมีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะจะเห็นได้ว่ามีเลนส์ตาเทียมให้เลือกหลากหลายชนิด โดยแบ่งตามระยะโฟกัส และการแก้ไขปัญหาสายตา 

    การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม จำเป็นที่จะต้องเลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ป่วย เมื่อแบ่งเลนส์ตาเทียมตามระยะโฟกัส จึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

    1. เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOLs)

    เลนส์ตาเทียม ชนิดโฟกัสระยะเดียว เป็นเลนส์แบบเริ่มต้นที่ใช้กันมายาวนาน ถึง 30 ปี ระยะโฟกัสมีระยะเดียว คือ “ระยะไกล” จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เลนส์ระยะไกล” นั่นเอง เนื่องจากเลนส์ตาเทียมชนิดนี้ มองเห็นชัดได้เกิน 5-6 เมตร แต่หากมองสิ่งของในระยะใกล้ เช่น การมองมือถือ หรือการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ จะไม่คมชัด จำเป็นที่จะต้องใช้แว่นสายตาช่วยนั่นเอง

    ข้อดีของ Monofocal IOLs คือราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับชนิดอื่น และไม่ค่อยเกิดภาวะ แสงฟุ้ง (Glare) หรือ วงรอบดวงไฟ (Halo) โดยเฉพาะเมื่อขับรถกลางคืน ภาพที่เห็นในระยะไกลคมชัดกว่า เมื่อเทียบกับ Multifocal IOLs และยังเหมาะคนที่เป็นต้อกระจกร่วมกับมีปัญหาโรคทางตาอื่น ๆ

    2. เลนส์ตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOLs)

    เป็นเลนส์ตาเทียม ที่มีการพัฒนาขึ้นจากเลนส์โฟกัสระยะเดียว ทำให้สามารถโฟกัสได้หลายระยะ เมื่อมองด้วยตาเปล่า ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยจะทำกิจกรรมประเภทใด ทั้งการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์  ขับรถ ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ล้วนตอบโจทย์มากกว่า

    นอกจากนี้เลนส์โฟกัสหลายระยะยังแบ่งย่อย ออกเป็น 3 ประเภทคือ

    1. ชนิดโฟกัสสองระยะ (Bifocal IOLs) เน้นโฟกัสที่ระยะไกล และระยะใกล้  ไม่ได้ช่วยในระยะกลาง หรือระยะที่ใช้คอมพิวเตอร์
    2. ชนิดโฟกัสสามระยะ (Trifocal IOLs) สามารถโฟกัสได้ทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล
    3. ชนิดโฟกัสยืด (Extended Depth of Focus : EDOF) เป็นเลนส์ที่อยู่ระหว่าง Monofocal IOLs กับ Multifocal IOLs จากที่ช่วงระยะโฟกัสของเลนส์ถูกยืดออกให้กว้างขึ้น จนเลนส์สามารถโฟกัสได้เกือบเท่า Bifocal IOLs

    ข้อดีของ Multifocal IOLs คือลดการพึ่งพาแว่นสายตา แต่ข้อเสียคือราคาแพง และมีโอกาสเกิดแสงฟุ้ง หรือวงรอบดวงไฟมากกว่า ทำให้เกิดปัญหาเวลาขับรถกลางคืนได้ นอกจากนี้ไม่เหมาะในคนที่คาดหวังว่าต้องมองภาพในระยะไกลได้คมชัดมาก

    3. เลนส์ตาเทียมแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOLs)

    สำหรับเลนส์ตาเทียมแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOLs) เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับแก้สายตาเอียง กรณีที่ที่เกิดจากความโค้งกระจกตาไม่เท่ากัน  เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาเอียง มากกว่า 1 Diopter ซึ่งการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมชนิดนี้ จะช่วยทำให้การหักเหของแสงที่กระจกตารวมเป็นจุดเดียว จึงสามารถแก้ไขปัญหาสายตาเอียง ให้ผู้ป่วยกลับมาเห็นภาพได้คมชัดขึ้น โดยที่เลนส์แก้ไขสายตาเอียงจะมีทั้งแบบ โฟกัสระยะเดียว (Monofocal Toric) และ โฟกัสหลายระยะ (Multifocal Toric)

    ข้อดี และข้อจำกัด ของการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม

    ก่อนตัดสินใจผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม  ผู้ป่วยควรรู้ข้อดีและข้อจำกัดของเลนส์ตาเทียม 
    ซึ่งประกอบไปด้วย

    ข้อดี

    • แผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมาก
    • เลนส์ตาเทียมสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ขุ่นมัว
    • สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ ทั้งสั้น ยาว เอียง จากการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว
    • พึ่งพาการใส่แว่นสายตาลดลง เพราะช่วยแก้ไขปัญหาสายตาให้กลับมาใกล้เคียงสายตาปกติ
    • เลนส์ตาเทียมทำจากวัสดุทางการแพทย์ เข้ากับเนื้อเยื่อบริเวณดวงตาได้โดยไม่ต่อต้าน ไม่เกิดการแพ้

    ข้อจำกัด

    • ผู้ที่ผ่าตัดด้วยเลนส์ตาเทียมแบบระยะเดียว จำเป็นที่จะต้องใช้แว่นสายตายาวช่วยในการมองระยะใกล้
    • การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ตาไม่สามารถทำได้เหมือนกับเลนส์ตาปกติ อาจมองเห็นบางระยะที่ไม่คมชัดบ้าง ขึ้นกับชนิดของเลนส์ที่เลือกใส่เข้าไปในตา
    • หากผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมแค่ข้างเดียว หรือผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาต้อกระจก 2 ข้างชนิดต่างกัน อาจทำให้ไม่ชินกับการมองเห็น หรือการมองเห็นที่เพี้ยนไป

    สรุปการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมจำเป็นหรือไม่ ?

    ในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก จนสามารถผลิตเลนส์ตาเทียมมาเทียบเคียงเลนส์ตาธรรมชาติ การเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจก หรือผู้ที่ต้องการแก้ปัญหาสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจากสายตาสั้น ยาว เอียง จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เลนส์ตาเทียมเป็นตัวช่วยและทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสายตา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาจากต้อกระจก หากมีความสนใจแนะนำเข้ามารับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ก่อนตัดสินใจเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งานของผู้ป่วยเอง 

    เอกสารอ้างอิง

    อังกฤษ  Arthi Mohankumar; Sashwanthi Mohan. (2023, July 3). National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK592396/