การผ่าต้อเนื้อ เป็นวิธีการรักษาโรคต้อที่สามารถพบได้ในปัจจุบัน โดยต้อเนื้อเกิดจากการที่เยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ เพราะดวงตาสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสี UV) รวมถึงลม ฝุ่นควัน และมลภาวะต่าง ๆ มากเกินไป จนเกิดเป็นต้อลม และพัฒนาเป็นต้อเนื้อในที่สุด หากเป็นต้อเนื้อแล้ว การใช้ยาหยอดตาจะสามารถทำได้เพียงบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น การจะรักษาที่ต้นเหตุต้องใช้วิธีผ่าต้อเนื้อออก ซึ่งหลังผ่าต้อเนื้อออกแล้ว อาจมีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่เข้าไป เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจักษุแพทย์
ทำความรู้จักโรคต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ เยื่อบุตาขาวที่เสื่อมสภาพจนเปลี่ยนเป็นแผ่นพังผืดสีแดงอ่อนหรือสีขาวเหลือง รูปร่างสามเหลี่ยม ลักษณะเรียบหรือนูนเล็กน้อย โดยต้อเนื้ออาจจะลุกลามเข้าไปในตาดำ ทำให้ตาพร่ามัว ทัศนวิสัยในการมองเห็นถูกบดบัง ทั้งนี้ต้อเนื้อมักจะเกิดบริเวณหัวตา สาเหตุเกิดจากการที่ดวงตาได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสี UV) โดยตรงเป็นเวลานาน จนเกิดการอักเสบและระคายเคืองเรื้อรังที่เยื่อบุตา รวมถึงดวงตาสัมผัสกับลม ฝุ่นควัน มลภาวะ อากาศที่ร้อนและแห้งเป็นประจำ ทำให้ตาแห้ง เกิดเป็นต้อลมและพัฒนาจนเป็นต้อเนื้อ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าต้อเนื้อ โดยการผ่าตัดต้อเนื้อมีมากกว่า 1 วิธี
ผ่าต้อเนื้อ มีกี่วิธี
วิธีการผ่าต้อเนื้อในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็นวิธีใหญ่ ๆ 2 วิธี โดยจะแบ่งตามการจัดการกับแผลหลังจากที่เยื่อบุตาขาวบางส่วนถูกตัดออกไปพร้อมกับต้อเนื้อ ได้แก่
ผ่าต้อเนื้อแบบปกติ
การผ่าต้อเนื้อแบบปกติ จะเป็นการผ่าเอาต้อเนื้อบริเวณเยื่อบุตาขาวที่ผิดปกติออก โดยไม่ได้นำเนื้อเยื่ออื่นมาเย็บติดแทนที่เยื่อบุตาขาวบางส่วนที่ถูกลอกออกไป ซึ่งเยื่อบุตาขาวจะสามารถงอกกลับขึ้นมาได้เองเมื่อเวลาผ่านไป การผ่าต้อเนื้อวิธีนี้มีโอกาสที่จะเกิดเป็นต้อเนื้อซ้ำค่อนข้างสูง มักใช้กับผู้ป่วยที่ต้อเนื้อไม่มีการอักเสบ พื้นที่ของต้อเนื้อน้อยหรือต้อเนื้อไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก รวมถึงผู้ป่วยที่มีอายุมาก
การผ่าตัดต้อเนื้อแบบปกติมีข้อดีคือทำได้ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที เกิดการระคายเคืองน้อย เพราะไม่ต้องเย็บเยื่อบุตาขาว
ผ่าต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ
การผ่าต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ จะเป็นการผ่าเอาต้อเนื้อบริเวณเยื่อบุตาขาวที่ผิดปกติออก โดยปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่ลงไปแทนที่เยื่อบุตาขาวบางส่วนที่ถูกลอกออกไป ซึ่งเนื้อเยื่อที่นำมาปลูกถ่ายจะเป็นเนื้อเยื่อจากเยื่อบุตาขาวที่อยู่บริเวณใกล้เคียงแผลผ่าตัด หรือเป็นเนื้อเยื่อจากรก ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อจากเยื่อบุตาขาวบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เยื่อบุตาขาวมีแผลเป็นมาก เนื้อเยื่อบุตาขาวไม่พอ เพราะต้อเนื้อมีขนาดใหญ่มาก ๆ หรือจำเป็นต้องเก็บเนื้อเยื่อบุตาขาวไว้สำหรับผ่าตัดต้อหินในอนาคต
ผ่าต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อด้วยการแปะกาว (Fibrin Glue)
การผ่าต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อด้วยการแปะกาว (fibrin glue) เป็นการนำเนื้อเยื่อใหม่มาแปะติดเชื่อมกับเยื่อบุตาขาวให้ติดกัน ซึ่งถือว่า เป็นวิธีการผ่าต้อเนื้อที่ดีที่สุด เพราะใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย และไม่ต้องตัดไหม
การผ่าต้อเนื้อ อันตรายไหม
การผ่าต้อเนื้อ เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย หากเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือ ในกรณีที่ต้อเนื้อยังไม่ลุกลาม อาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต้อเนื้อ แต่ในกรณีที่ต้อเนื้อลุกลามเข้าบริเวณตาดำแล้ว ควรเข้ารับการผ่าตัด เพราะเป็นอันตรายต่อการมองเห็น
ข้อดีของการผ่าต้อเนื้อ
การผ่าต้อเนื้อ มีข้อดี คือ สามารถกกำจัดแผ่นต้อเนื้อที่ลุกลาม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการมองเห็น โดย inZ Hospital จะเปรียบเทียบข้อดีของการผ่าต้อเนื้อทั้งสองวิธี ได้แก่
- การผ่าต้อเนื้อแบบปกติมีข้อดี คือ ทำได้ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที อาการหลังลอกต้อเนื้อ เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า เพราะไม่ต้องเย็บเยื่อบุตาขาว แต่เยื่อบุตาขาวที่งอกขึ้นมาใหม่เองตามธรรมชาติจะมีโอกาสเกิดเป็นต้อเนื้ออีกครั้ง
- การผ่าต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อมีข้อดี คือ เยื่อบุตาขาวจะฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว แผลผ่าตัดจึงหายเร็วขึ้น และมีโอกาสกลับมาเกิดเป็นต้อเนื้อซ้ำอีกครั้งน้อย แต่ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า และหากใช้ไหมในการเย็บ หลังผ่าต้อเนื้อ จะมีอาการระคายเคือง
การผ่าต้อเนื้อ จำเป็นกับใคร
วิธีรักษาด้วยการผ่าต้อเนื้อ จำเป็นกับผู้ที่ต้อเนื้อลุกลามเข้าสู่บริเวณตาดำจนบดบังสายตา ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น รวมถึงผู้ที่เริ่มมีภาวะสายตาเอียง จากสาเหตุต้อเนื้อดึงรั้งกระจกตาจนผิดรูป ดังนั้น หากต้อเนื้อเริ่มเป็นอุปสรรคหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการผ่าตัดต้อเนื้อ
อาการที่ยังไม่จำเป็นต้องผ่าต้อเนื้อ
สำหรับใครที่ต้อเนื้อยังไม่ลุกลามหรือต้อเนื้อยังไม่กระทบต่อการมองเห็น และการดำเนินชีวิต มีเพียงอาการระคายเคือง คันตาเล็กน้อย สามารถดูแล บรรเทาอาการด้วยการหยอดยา โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตาต้อเนื้อ อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติหรือต้อเนื้อเริ่มลุกลาม ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจประเมินว่า ควรผ่าต้อเนื้อ หรือควรรักษาด้วยวิธีใดจึงเหมาะสมที่สุด
การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อเนื้อ
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยให้ผ่าต้อเนื้อ ควรเตรียมตัวดังนี้
- หากมีโรคประจำตัวและยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งจักษุแพทย์ก่อน เพื่อให้จักษุแพทย์พิจารณาว่าต้องงดยาตัวใดหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด จะต้องงดทานยานั้น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อเนื้อ
- หยอดน้ำตาเทียมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา
- ตามปกติแล้ว การผ่าต้อเนื้อจะไม่ต้องดมยาสลบ แต่หากเป็นกรณีที่จักษุแพทย์ต้องใช้ยาสลบ ให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ล้างหน้าและสระผมให้สะอาดก่อนถึงวันที่ต้องเข้ารับการผ่าต้อเนื้อ
- งดแต่งหน้า งดติดขนตาปลอม และงดทาครีมที่ใบหน้า ในวันที่เข้ารับการผ่าต้อเนื้อ
- ในวันที่เข้ารับการผ่าต้อเนื้อ ให้พาญาติหรือผู้ติดตามมาด้วย เพราะภายหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดแล้ว จะต้องปิดที่ครอบตา อาจทำให้เดินทางกลับเองไม่สะดวก
- ก่อนเข้ารับการผ่าตาต้อเนื้อ หากคนไข้รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมาก ให้แจ้งกับจักษุแพทย์ จักษุแพทย์อาจให้รับประทานยาลดความวิตกกังวล
ขั้นตอนการผ่าต้อเนื้อ
ขั้นตอนการผ่าต้อเนื้อแบบปกติ จักษุแพทย์จะลอกเยื่อบุตาขาวส่วนที่เป็นต้อเนื้อออก โดยไม่ได้เย็บเยื่อบุตาขาวส่วนที่เหลืออยู่ให้เข้ามาติดกันหรือนำเนื้อเยื่ออื่นมาเย็บติดเข้าไปแทน แต่จะปล่อยให้เยื่อบุตาขาวงอกมาเชื่อมติดกันเองตามธรรมชาติ
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ จะผ่าต้อเนื้อออกเหมือนวิธีแรก แต่จะนำเนื้อเยื่อใหม่มาแปะติดลงไปด้วย โดยการใช้ไหมเย็บ หรือใช้กาว Fibrin Glue มาเชื่อมเนื้อเยื่อใหม่กับเยื่อบุตาขาวให้ติดกัน ซึ่งการใช้กาว Fibrin Glue จะมีข้อดีคือทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่าการใช้ไหมเย็บ ไม่ต้องตัดไหม แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
ข้อปฏิบัติการดูแลหลังผ่าต้อเนื้อ
ข้อปฏิบัติหลังลอกตาต้อเนื้อมีดังต่อไปนี้
- ภายหลังจากที่ผ่าต้อเนื้อ ให้ปิดที่ครอบตาไว้เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง
- เมื่อเปิดตาแล้ว ให้หยอดยาที่ได้รับตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำเกลือ เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาเป็นประจำทุกวัน ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์
- ห้ามให้น้ำหรือฝุ่นละอองเข้าตา เป็นเวลาอย่างน้อย 1 – 2 สัปดาห์
- หลังผ่าต้อเนื้อ งดขยี้ตาเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
- หยอดน้ำตาเทียมอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา หากจำเป็นต้องสัมผัสดวงตา ให้ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งก่อนทุกครั้ง
- ไปพบจักษุแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง แต่หากมีความผิดปกติ เช่น ตาแดงมาก ตาบวมมาก ปวดตามาก รวมถึงมีขี้ตาเยอะกว่าปกติ ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ก่อนถึงเวลานัดหมาย
- หากมีการหยุดทานยาที่ต้องทานเป็นประจำไป ให้กลับมาทานตามปกติเมื่อจักษุแพทย์อนุญาต
- สวมแว่นกันแดดเป็นประจำ เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสี UV) รวมถึงฝุ่นควันและมลภาวะ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำอีก
อาการแทรกซ้อนที่อาจพบหลังผ่าต้อเนื้อ
ภายหลังจากที่เข้ารับการผ่าต้อเนื้อ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดทั่วไป เช่น เกิดการระคายเคือง แผลอักเสบ แผลติดเชื้อ แพ้ยาชาที่ใช้ขณะผ่าตัด แพ้ยาหยอดตาที่ใช้หลังผ่าต้อเนื้อ
- มีโอกาสเกิดต้อเนื้อซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะการผ่าต้อเนื้อที่ไม่ได้ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่
- เนื้อเยื่อใหม่ที่นำมาปลูกถ่ายหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการเย็บเนื้อเยื่อใหม่ การใช้กาวติดเนื้อเยื่อใหม่ผิดวิธี หรือผู้ป่วยเกา ขยี้ รวมถึงสัมผัสดวงตาแรงเกินไป
- มองเห็นภาพซ้อน ซึ่งอาจเกิดจากการที่พังผืดของต้อเนื้อซึ่งตัดออกไม่หมดไปดึงรั้งกล้ามเนื้อตา ทำให้ไม่สามารถขยับดวงตาได้ตามปกติ
FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคผ่าต้อเนื้อ
inZ Hospital รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าต้อเนื้อมาไว้ด้านล่างนี้แล้ว
ผ่าตัดต้อเนื้อ พักฟื้นกี่วัน
หลายคนสงสัยว่า ผ่าตัดต้อเนื้อ พักฟื้นกี่วัน? หลังผ่าต้อเนื้อ พักฟื้นที่บ้านโดยสวมที่ครอบตาประมาณ 48 ชั่วโมง และจะมีอาการระคายเคืองตาจนถึงวันตัดไหม ในช่วงพักฟื้น ควรทำตามข้อปฏิบัติหลังลอกตาต้อเนื้ออย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้น้ำเข้าตา สวมทึ่ครอบตา ห้ามขยี้ตา เป็นต้น เพื่อป้องกันอาการผิดปกติแทรกซ้อน
ลอกตาต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลไหม
ผ่าต้อเนื้อ ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ผู้เข้ารับการผ่าตัด สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ และต้องทำตามข้อปฏิบัติ หลังลอกตาต้อเนื้อตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้
นอกจากผ่าต้อเนื้อ มีวิธีรักษาต้อเนื้อแบบอื่นหรือไม่
วิธีรักษาต้อเนื้อโดยไม่ผ่าตัด เป็นเพียงการดูแลรักษาอาการระคายเคืองเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้แผ่นต้อเนื้อหายไปได้ หากต้องการที่จะนำต้อเนื้อออก จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต้อเนื้อเท่านั้น
ผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เจ็บไหม
ผ่าตัดลอกต้อเนื้อเจ็บไหม? ในการผ่าต้อเนื้อ จะมีการใช้ยาชา เพื่อป้องกันความรู้สึกเเจ็บปวด เมื่อยาชาออกฤทธิ์ ผู้เข้ารับการผ่าต้อเนื้อ จะรู้สึกเหมือนมีอะไรสัมผัสที่ดวงตาเพียงเท่านั้น
ข้อสรุปการผ่าต้อเนื้อ
แม้ว่า ต้อเนื้อจะไม่ใช่โรคที่อันตรายจนถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างถาวร แต่หากไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นบางส่วนชั่วคราว อีกทั้งยังมีผลต่อเรื่องความสวยงามของดวงตา ซึ่งการรักษาต้อเนื้อในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการผ่าต้อเนื้อเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่ผ่าต้อเนื้อแล้ว จะมีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจักษุแพทย์ โดยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่มีข้อดี คือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงภายหลังจากการผ่าต้อเนื้อ อันได้แก่การกลับมาเกิดเป็นต้อเนื้อซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องทำในผู้ป่วยทุกคน
เอกสารอ้างอิง
Pterygium (Surfer’s Eye). (n.d.). clevelandclinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22497-pterygium-surfers-eye