เปลี่ยนกระจกตาใหม่ แก้ไขโรคทางกระจกตา ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

กู้ภาวะตามัวจากโรคทางกระจกตา ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (Corneal Transplantation)    เพื่อรักษาและแก้ปัญหาการมองเห็นที่ผิดปกติ  ไม่ว่าจะเป็นจากกระจกตาขุ่น ที่เกิดจากกระจกตาเป็นแผล กระจกตาเสื่อม การติดเชื้อที่กระจกตา กระจกตาบางหรือทะลุ และโรคกระจกตาขุ่นที่เกิดจากกรรมพันธุ์ เพราะกระจกตาที่มีความขุ่นมัวส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนกระจกตา

สารบัญบทความ

    การเปลี่ยนกระจกตาคืออะไร ค้นหาคำตอบได้ที่นี่

    การเปลี่ยนกระจกตาคือ การผ่าตัดเอากระจกตาที่มีรอยโรคออกไป หลังจากนั้นทำการปลูกถ่ายเปลี่ยนกระจกตาจากผู้บริจาคเข้าไปทดแทน

    ซึ่งก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า กระจกตา (Cornea) คือ ส่วนที่อยู่ด้านหน้าของลูกตา มีลักษณะ โปร่งใส และไม่มีเส้นเลือด โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น คือ

    1. เยื่อบุผิว หรือ กระจกตาชั้นนอก (epithelium) เป็นส่วนที่ เคลือบอยู่ชั้นหน้าสุดของลูกตา
    2. Bowman’s layer อยู่ถัดจากเยื่อบุผิว ลักษณะเป็นชั้นบางๆ
    3. กระจกตาชั้นกลาง (stroma) เป็นชั้นที่มีความหนามากที่สุด
    4. Descemet membrane มีลักษณะเป็นเยื่อบาง แต่มีความแข็งแรง
    5. ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelium)  อยู่ชั้นในสุดของดวงตา มีหน้าที่คงความใสของกระจกตา ควบคุมสมดุลย์ของของเหลว 

    การเปลี่ยนกระจกตาช่วยแก้ปัญหาด้านใด

    • เปลี่ยนกระจกตาช่วยแก้ปัญหาสาเหตุภาวะตามัวจากกระจกตาบวมน้ำ หรือกระจกตาขุ่นจากแผลเป็น หรือกระจกตาขุ่นจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือโรคกระจกตาย้วยหรือโป่งขั้นรุนแรง
    • ช่วยทำให้โครงสร้างของดวงตาแข็งแรงขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่มีแผลกระจกตาบางจนเกือบทะลุซึ่งลักษณะนี้ เราสามารถผ่าตัดเพื่อปะกระจกตา เสริมความแข็งแรงได้
    • เพื่อควบคุมการติดเชื้อ ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีแผลติดเชื้อที่กระจกตา

    การเปลี่ยนกระจกตา ทำได้กี่แบบ

    สำหรับการเปลี่ยนกระจกตานั้นหลัก ๆ แล้ว จะมีการแบ่งรูปแบบผ่าตัดออกเป็น 4 แบบ ซึ่งการพิจารณาเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และพยาธิสภาพที่ผู้ป่วยมี

    การเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนา

    (Penetrating keratoplasty : PKP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง โดยเป็นการเปลี่ยนทั้งชั้นของกระจกตา แล้วแพทย์ทำการเย็บไหมโดยรอบ เพื่อให้กระจกตาบริจาค ติดกับกระจกตาของผู้ป่วย เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาที่ไม่ซับซ้อน แต่สามารถเกิดอาการระคายเคือง ตาแห้ง มองไม่ชัดจากปัญหาค่าความโค้งของกระจกตาเหนี่ยวนำให้เกิด สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงได้

    การเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหน้าเท่านั้น

    (Deep anterior lamellar keratoplasty :DALK) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ หรือแผลเป็นเฉพาะชั้นกระจกตาส่วนหน้า เช่น กระจกตาขุ่นที่เกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ แผลเป็นกระจกตาจากการติดเชื้อ จากอุบัติเหตุ โรคกระจกตาย้วย แพทย์จะเลาะเอาชั้นกระจกส่วนหน้าที่มีรอยโรคออกไป และนำกระจกตาบริจาค มาเย็บแปะเข้าไปแทน วิธีนี้การปฎิเสธอวัยวะถือว่าน้อยกว่าวิธี  PKP

    การเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังเท่านั้น

    (Descemet’s membrane endothelial keratoplasty :DMEK) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่ชั้น Endothelium โดยกระจกตาส่วนหน้ายังปกติดี  วิธีการทำเช่นเดียวกันกับ วิธี DSAEK แต่โครงสร้างตาหลังผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจะเหมือนธรรมชาติ เพราะปลูกถ่ายเฉพาะชั้นส่วนหลังจริงๆ แผลเล็กกว่า DSAEK การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาพักฟื้นตัวเร็วกว่า กระจกตากลับมาใสเร็วกว่า มองเห็นดีกว่า มีการปฏิเสธอวัยวะน้อยสุด

    การเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังแบบใส่ด้านหลังของกระจกตาส่วนหน้าเข้าไปด้วย

    (Descemet’s Strippling Automated Endothelial keratoplasty : DSAEK ) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของชั้น Endothelium โดยที่กระจกตาส่วนหน้าปกติดีไม่มีแผลเป็น ชิ้นส่วนของกระจกตาที่ปลูกถ่าย ใช้ฟองอากาศอัดกระจกตาบริจาค ให้ติดกับกระจกตาของผู้ป่วย แผลผ่าตัดจะเล็กว่าแบบแรก การฟื้นตัวเร็วกว่า การปฏิเสธอวัยวะมีน้อยกว่า

    แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีโรคของดวงตาส่วนอื่นร่วมด้วย เช่น โรคต้อหิน, โรคทางจอประสาทตา  อาจทำให้การมองเห็นหลังการผ่าตัดผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร 

    ขั้นตอนการการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามีวิธีอย่างไร

    ก่อนพิจารณาผ่าตัดการเปลี่ยนกระจกตา ในระหว่างรอรับกระจกตาบริจาค* ต้องมีการการตรวจประเมินดูสาเหตุของโรคทางกระจกตา และดูพยาธิสภาพว่ารอยโรคเกิดที่ชั้นไหนของกระจกตา เมื่อใกล้ได้คิวกระจกตา ผู้ป่วยก็เข้าสู่การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด ส่งตรวจเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
    (* กระจกตา อาจได้มาจากการบริจาคดวงตาในไทย หรือต่างประเทศ แต่กระจกตาที่ได้จากต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มเติมขึ้นมา)

    การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา สามารถทำได้ทั้งแบบดมยาสลบ หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยแพทย์ผู้ทำผ่าตัดจะเป็นคนเลือก ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยในแต่ละราย เมื่อพร้อมผ่าตัด และได้รับกระจกตาบริจาคแล้ว แพทย์จะต้องตรวจสอบความใสของกระจกตาที่รับบริจาคมา ตลอดจนโรคติดต่อต่าง ๆ ที่อาจผ่านมาทางกระจกตาก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วย ไม่มีการอักเสบของส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบ

    หลังจากนั้นจะทำการเตรียมกระจกตาของผู้บริจาค โดยตัดกระจกตาตามชั้นที่จะปลูกถ่าย และปลูกถ่ายทดแทนเข้าไปในตำแหน่งกระจกตาเดิมที่มีพยาธิสภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดราว ๆ  1  ถึง 3 ชั่วโมง จำเป็นต้องมีการ Admit นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

    การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

    การดูแลตนเองหลังทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาที่ควรทราบ

    หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา  ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

    • ระวังในเรื่องของการติดเชื้อ โดยห้ามขยี้ตา ห้ามน้ำเข้าตา 
    • ใส่ที่ครอบตา ป้องกันการกระแทก 
    • หยอดยา ทานยา ตามคำสั่งแพทย์ 
    • รวมถึงมาติดตามอาการตามนัด เพื่อดูในเรื่องของอาการของการปฏิเสธอวัยวะ 
    • เฝ้าระวังการติดเชื้อ และควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

    ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

    • ระหว่างผ่าตัด อาจเกิดบาดแผลที่เยื่อบุชั้นในสุดของกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรืออาจมีเลือดออกในชั้นใต้จอประสาทตา
    • หลังการผ่าตัดระยะแรก ที่ต้องระวังคือการติดเชื้อ เกิดฝีที่รอยเย็บ แผลผ่าตัดรั่วซึม มีแผลแยก ความดันตาสูง
    • หลังการผ่าตัดระยะหลัง เช่น ปัญหาสายตาผิดปกติ จากสายตาสั้น ยาว หรือเอียง แต่มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและคงที่ประมาณ 1 ปี  , ปัญหาการกลับเป็นซ้ำของโรคเดิม เช่นการติดเชื้อไวรัสเริมที่กระจกตา ,ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย ทำให้กระจกตาที่ปลูกถ่ายขุ่นมัวเร็วกว่าปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2  สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีอาการแสดงต่างๆ ดังนี้ การมองเห็นลดลง มีอาการตาพร่ามัว ตาแดง ระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล และอาการแพ้แสง 

    สรุปการเปลี่ยนกระจกตาช่วยให้การมองเห็นชัดเจนเท่าเดิมหรือไม่ 

    ในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ผลลัพธ์ของการมองเห็นจะขึ้นกับพยาธิสภาพของกระจกตา
    วิธีที่ใช้ผ่าตัด ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา รวมถึงพยาธิสภาพในตาส่วนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการปฏิเสธไม่รับอวัยวะที่ปลูกถ่ายด้วย

    ใครที่มีปัญหาด้านการมองเห็นจากโรคทางกระจกตา แนะนำเข้าพบจักษุแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจประเมิน และพิจารณาทำการรักษาเพื่อโอกาสในการมองเห็นที่ดีขึ้น