ภาวะวุ้นในตาเสื่อม ถือเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามชีวิตของใครหลาย ๆ คน เพราะรู้กันดีว่าการที่วุ้นตาเสื่อมเพียงแค่สร้างความรำคาญ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้หลายคนชะล่าใจ คิดว่าปล่อยไว้คงไม่เป็นไร แต่ที่จริงแล้วภาวะนี้สามารถนำมาสู่จอประสาทตาฉีกขาด และจอประสาทตาลอก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักกับภาวะวุ้นในตาเสื่อม เพื่อจะได้รู้ถึงอาการสำคัญซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปพบจักษุแพทย์
ทำความรู้จักกับวุ้นตา
วุ้นในตาหรือวุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นของเหลว หนืด สีใส คล้ายเจล อยู่ภายในลูกตา ด้านหลังเลนส์ตา ติดกับจอประสาทตา ซึ่งส่วนประกอบ 99% ของวุ้นตาจะเป็นน้ำ นอกจากนั้น เป็นเส้นใยคอลลาเจนและโปรตีน โดยวุ้นตามีหน้าที่ทำให้ลูกตาทรงตัวคงรูปร่างอยู่ได้ และคอยหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในลูกตา
ภาวะวุ้นในตาเสื่อม คืออะไร
วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) คือ การที่วุ้นในตาเสื่อมสภาพ และกลายเป็นน้ำ ส่วนเส้นใยคอลลาเจน และโปรตีนที่เคยเรียงกันอยู่ก็จะขาดออกจากกัน บางส่วนมีความหนาขึ้น หดตัวและจับกันเป็นตะกอนทึบแสง ทำให้จากวุ้นตาใส ๆ เริ่มมีความขุ่น นอกจากนี้ เมื่อวุ้นตากลายเป็นน้ำก็จะเกิดการหดตัว แล้วลอกออกจากจอประสาทตา การลอกอาจดึงรั้งให้จอประสาทตาฉีกขาดจนเกิดจอประสาทตาลอกตามมา
ลักษณะอาการวุ้นในตาเสื่อม
วุ้นในตาเสื่อม อาการเป็นอย่างไร ? อาการของวุ้นในตาเสื่อม เป็นอาการปกติที่ไม่ร้ายแรง เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ และรบกวนการมองเห็นเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากมีภาวะวุ้นในตาเสื่อมที่ดึงรั้งให้จอประสาทตาลอก ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยอาการวุ้นในตาเสื่อมมีดังต่อไปนี้
- มองเห็นตะกอนในวุ้นตาลอยไปมา
- มองเห็นเงาคล้ายม่านมาบดบังสายตา
- มองเห็นแสงวาบ
วุ้นในตาเสื่อม เกิดจากอะไร
วุ้นตาเสื่อม เกิดจากอะไร ? หากเรียกว่า โรควุ้นในตาเสื่อม แสดงว่าสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาวะนี้คือการเสื่อมสภาพของวุ้นตา โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุทั้งหมดมีดังนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น : การเสื่อมสภาพของวุ้นตาเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุหลัก ๆ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยมักจะพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- การอักเสบ : การอักเสบที่ทำให้วุ้นในตาเสื่อม มีทั้งวุ้นตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ รวมถึงตาอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นตาอักเสบเรื้อรัง
- เลือดออกในวุ้นตา : สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีภาวะเบาหวานขึ้นตา หรือผู้ที่หลอดเลือดในตามีความผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวุ้นในตาเสื่อม
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรควุ้นในตาเสื่อม เช่น
- สายตาสั้น : ผู้ที่มีสายตาสั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีสายตาสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป จะมีขนาดลูกตาที่ยาวมากกว่าปกติ เมื่อกลอกตาไปมา วุ้นในตาจึงแกว่งตัวมาก ทำให้วุ้นในตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าผู้ที่มีสายตาปกติ
- อุบัติเหตุ : อุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา ทำให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจทำให้วุ้นในตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้จอประสาทตาฉีกขาดจนเกิดจอประสาทตาลอก นอกจากนี้ อุบัติเหตุที่ทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ ทำให้กระจกตาเป็นแผล ก็นับว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้วุ้นในตาเสื่อมเช่นกัน
- การผ่าตัด : อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้วุ้นตาเสื่อมได้ เช่น การผ่าต้อกระจก
การตรวจวินิจฉัยวุ้นในตาเสื่อม
การตรวจวินิจฉัยวุ้นในตาเสื่อม แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ถามอาการในเบื้องต้น พร้อมตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือเครื่องมือที่เรียกว่า slit-lamp รวมถึงมีการหยอดยาขยายม่านตา เพื่อให้จักษุแพทย์สามารถตรวจดูวุ้นตาและจอประสาทตาอย่างละเอียด ทำให้การมองเห็นพร่ามัว ดังนั้น แนะนำให้พาญาติหรือผู้ติดตามไปด้วย โดยหลังจากการตรวจ แพทย์จะวางแผนการรักษาวุ้นตาเสื่อมได้อย่างเหมาะสม
แนวทางการรักษาวุ้นในตาเสื่อม
วุ้นในตาเสื่อม รักษาอย่างไรได้บ้าง ? วุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะการเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย หากมีเพียงอาการปกติอย่างการเห็นตะกอนลอยไปมา ก็ทำได้แค่สร้างความรำคาญเท่านั้น ไม่นานตะกอนก็จะลดลง และเริ่มเคยชินกับการมองเห็นไปเอง ดังนั้น ภาวะวุ้นในตาเสื่อมสามารถปล่อยทิ้งไว้ได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากรู้สึกว่าอาการต่าง ๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างมาก แนะนำให้มาพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ วิธีรักษาวุ้นในลูกตาเสื่อมที่ได้ยินกันในปัจจุบัน จะเป็นการรักษาใน 2 กรณี กรณีแรกคือการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาลอก ส่วนกรณีที่ 2 คือการรักษาหลังจากที่จอประสาทตาลอกไปแล้ว
- การรักษาวุ้นในตาเสื่อมเพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาลอก
หากจอประสาทตามีเพียงรูหรือรอยฉีกขาด เพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาลอก จักษุแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์หรือใช้ความเย็น จี้เข้าไปในลูกตา เพื่อปะรูหรือรอยฉีกขาดนั้น
- การรักษาจอประสาทตาลอก
หากจอประสาทตาลอกไปแล้ว จะสามารถทำการรักษาได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการฉีดแก๊สเข้าไปในดวงตา เพื่อให้แก๊สไปดันจอประสาทตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม ส่วนวิธีที่ 2 คือการผ่าตัด แบ่งออกเป็น การผ่าตัดหนุนลูกตาด้วยยางหรือฟองน้ำซิลิโคน (Scleral Buckle) กับการผ่าตัดวุ้นตาและซ่อมจอตาภายในลูกตาโดยตรง (Pars Plana Vitrectomy : PPV)
วิธีป้องกันวุ้นในตาเสื่อม
การป้องกันวุ้นลูกตาเสื่อมที่มีสาเหตุจากอายุเพิ่มมากขึ้นไม่สามารถทำได้ แต่ผู้สูงอายุควรหมั่นไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้จักษุแพทย์ประเมินว่า จอประสาทตามีรูหรือรอยฉีกขาดหรือไม่ และยังถือเป็นการตรวจหาโรคทางตาอื่น ๆ ไปด้วย ในส่วนของวิธีการป้องกันสาเหตุอื่น ๆ ของโรควุ้นในตาเสื่อม สามารถทำได้ดังนี้
- ลดปัจจัยที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้สายตาสั้น หรือทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เช่น ลดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาอย่างหนักและติดต่อกันเป็นเวลานาน หากใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการพักสายตาบ้าง รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น สวมแว่นตาป้องกันขณะทำงานหรือเล่นกีฬาซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ
- รักษาโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคตาโดยตรงอย่างต้อ หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างเบาหวาน
ข้อสรุปวุ้นในตาเสื่อม
แม้ว่าภาวะวุ้นในตาเสื่อมจะป้องกันการเกิดขึ้นไม่ได้ และยังอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างถาวร แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลเกินไปนัก เพียงแค่ดูแลรักษาดวงตาให้ดี เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หมั่นสังเกตอาการของตน และรีบไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลหากพบความผิดปกติในการมองเห็น ภาวะวุ้นตาเสื่อมก็จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ ในการตรวจวินิจฉัย จะมีการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อให้จักษุแพทย์สามารถตรวจดูวุ้นตาและจอประสาทตาอย่างละเอียด