อาการปวดตา ตาล้าคืออะไร? มีสาเหตุและวิธีการรักษายังไง?

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ผู้คนใช้เวลาส่วนมากอยู่กับหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีภาวะตาล้าเกิดขึ้นตามมา แม้ว่าอาการตาล้าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่แน่นอนว่าสายตาที่อ่อนล้าจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็น รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสร้างความหงุดหงิดและรำคาญใจ

สารบัญบทความ

    ตาล้าคืออะไร?

    ปวดตา ตาล้า

    ตาล้า (Asthenopia) คือ ภาวะที่ดวงตาอ่อนล้า เมื่อยล้า หรือเหนื่อยล้า จากการใช้สายตาอย่างหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้สายตามองใกล้ หรือจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานๆ เช่น จอ LED จอโทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ หรือที่ผู้คนชอบพูดกันว่าสายตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ ยิ่งหากเป็นผู้ที่มีปัญหาสายตาอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะตาล้าได้ง่ายขึ้น

    ตาล้าจะทำให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น มองเห็นภาพไม่ชัดจากปัญหาของการโฟกัสภาพผิดปกติไป ทั้งนี้ ตาล้าเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตา ไม่ใช่หนึ่งในโรคตาอย่างที่หลายคนเข้าใจ

    อาการตาล้ามีอะไรบ้าง?

    หากมีภาวะตาล้าแล้ว ก็จะทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นตาเบลอ มองเห็นภาพไม่ชัด ไม่สามารถโฟกัสวัตถุที่มองเห็น มองเห็นภาพซ้อน รู้สึกไม่สบายตา ระคายเคืองตา คันตา แสบตา มีน้ำตาไหล ตาแห้งทำให้เกิดอาการตาแดง ปวดตา ทั้งบริเวณกระบอกตาและบริเวณรอบดวงตา อาจมีอาการตาไวต่อแสงหรือตาแพ้แสง บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย 

    สำหรับผู้ที่มีภาวะตาล้ามาก ๆ จะทำให้เกิดอาการเวียนหัว ปวดหัว ปวดไมเกรน รวมถึงปวดบริเวณหัวคิ้วและขมับ บางรายอาจถึงขั้นรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน บ้านหมุน กล้ามเนื้อตาหรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นบนใบหน้ากระตุก ทั้งนี้ แม้ว่าภาวะตาล้าจะทำให้เกิดอาการแสดงทางร่างกายมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับโรคร้ายที่เป็นอันตรายร้ายแรงใด ๆ

    สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาล้า

    โดยทั่วไปแล้ว ภาวะตาล้าเกิดจากการใช้สายตาอย่างหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ แต่ภาวะตาล้าก็สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งจะขออธิบายในรายละเอียดดังนี้

    ใช้งานดวงตาหนัก

    วัยเรียนและวัยทำงาน เป็นวัยที่ต้องใช้สายตาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างหนัก ยิ่งในยุคปัจจุบันที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น จากการเรียนในห้องเรียนที่โรงเรียนก็กลายมาเป็นการเรียนออนไลน์ ในสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ก็ให้เด็กเรียนกับวิดีโอที่บันทึกการสอนไว้ผ่านคอมพิวเตอร์ แทนที่จะเป็นการเรียนกับติวเตอร์โดยตรง รวมถึงการใช้แท็บเล็ตในการจดบันทึกเนื้อหาที่เรียนแทนสมุด ทำให้เด็ก ๆ ต้องใช้สายตาอยู่กับหน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน และหากมีเวลาว่าง เด็ก ๆ ก็มักเลือกที่จะเล่นโทรศัพท์มือถือ ทั้งแชต ดูซีรีส์ และเล่นเกม แทนการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อใช้สายตาเยอะ ก็จะทำให้มีอาการปวดตาตามมา

    ในวัยทำงาน คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะมีโปรแกรมที่ตอบโจทย์การทำงานแทบทุกด้าน ทำให้หลายอาชีพต้องทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่คิดแล้วก็เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และหากมีเวลาว่าง ก็มักจะหมดไปกับการท่องโลก Social Media ผ่านโทรศัพท์มือถือเหมือนกับเด็ก ๆ ทั้งนี้ การใช้สายตาจ้องมองจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้ดวงตาต้องเพ่งเพื่อคอยดูรายละเอียดต่าง ๆ บนหน้าจอในระยะเดียวอยู่ตลอด ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาล้า และการจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ยังทำให้เราลืมกะพริบตาหรือกะพริบตาน้อยลง จนเกิดอาการตาแห้งซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาล้า

    แม้กระทั่งในผู้สูงอายุและเด็กเล็กก็หนีไม่พ้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เพราะผู้สูงอายุมักจะใช้เวลาตลอดทั้งวันไปกับการดูทีวี ในขณะที่ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ ได้เพลิดเพลินไปกับการ์ตูนที่สนุกสนานบนแท็บเล็ต จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้คนถึงประสบกับภาวะตาล้ามากขึ้น และเกิดภาวะตาล้าเร็วขึ้น หากเทียบกับในอดีต 

    ใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ

    ช่วงเวลากลางคืนที่เงียบสงบ ทำให้เด็กหลายคนเลือกที่จะใช้เวลานี้ในการทบทวนบทเรียน และผู้ใหญ่หลายคนก็เลือกที่จะใช้เวลานี้ไปกับการอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา หากเราทำโดยไม่เปิดไฟเพื่อให้ภายในห้องมีแสงสว่างเพียงพอ สายตาก็จะถูกบังคับให้เพ่งเพื่อให้มองเห็นตัวหนังสือได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดภาวะตาล้าตามมา

    ใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน

    หากเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพขับรถโดยสารประจำทาง คนส่งของ หรือเป็นผู้ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปตามต่างจังหวัดไกล ๆ การใช้สายตาจ้องมองถนนติดต่อกันเป็นเวลานานตลอดทั้งวันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการใช้สายตาติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้สายตาอ่อนล้า หรือตาเบลอได้ หากเป็นเวลากลางวันที่มีแดดจ้า หรือเป็นผู้ที่ขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อค ดวงตาก็จะต้องเผชิญกับแสงแดด ลม และฝุ่นควัน ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา แสบตา หรือหากขับขี่ยานพาหนะในเวลากลางคืน ก็จะต้องเพ่งสายตาเพื่อให้มองเห็นชัดมากขึ้น ดวงตาก็จะยิ่งอ่อนล้าง่ายขึ้น

    ค่าสายตาผิดปกติ

    ปัญหาสายตาต่าง ๆ ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้กลับมามีการมองเห็นที่ชัดเจน จะทำให้ผู้ซึ่งมีปัญหาเหล่านี้ชอบหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นชัด โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กล้ามเนื้อตายังทำงานได้ดี หากเด็กมองเห็นไม่ชัด สมองก็จะสั่งให้ดวงตาฝืนเพ่งโดยอัตโนมัติ เมื่อกล้ามเนื้อตาถูกใช้งานอย่างหนัก ก็จะทำให้เกิดภาวะตาล้าตามมาโดยไม่รู้ตัว

    ภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา

    อาการตาล้าส่งผลให้เกิดภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับดวงตา ในทางกลับกับ ภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตาก็ส่งผลให้เกิดอาการตาล้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตาพร่ามัว ตาแห้ง กระจกตามีปัญหาหรือมีความผิดปกติ เป็นต้น

    ความเครียด

    ความเครียดและความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดทั้งวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ บนร่างกายต้องเกร็งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ปวดหัว ปวดท้ายทอย ลามไปจนถึงปวดคอ บ่า และไหล่ หากกล้ามเนื้อส่วนที่เกร็งเป็นกล้ามเนื้อตา ก็จะทำให้ปวดตาและมีอาการตาล้าได้อีกด้วย

    ผลกระทบจากอาการตาล้า

    ตาล้า มองไม่ชัด

    ภาวะตาล้าที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษา ย่อมรบกวนการมองเห็นและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ประสบกับภาวะนี้ลดลง รวมถึงก่อให้เกิดโรคตาหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

    ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

    ภาวะตาล้าส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและสุขภาพร่างกาย อีกทั้งยังรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่มีสายตาล้าจะมองเห็นไม่ชัดและไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การเรียนหนังสือหรือการทำงานตลอดทั้งวัน อีกทั้งภาวะตาล้ายังส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลีย ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลง เมื่อเราไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่วางแผนไว้ได้สำเร็จ คุณภาพชีวิตเราก็จะลดลงตามไปด้วย

    หากเป็นผู้ที่ต้องขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นประจำ แล้วเกิดมีอาการตาล้าบ่อยครั้ง ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ อันเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของตนเองและบุคคลอื่น

    โรคเกี่ยวกับดวงตา

    หากภาวะตาล้าถูกปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาจนมีอาการรุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลงได้ โดยเฉพาะตาแห้ง

    การวินิจฉัยภาวะตาล้า

    หากสงสัยว่าตนเองมีอาการตาล้า แล้วต้องการไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เราสามารถทำให้การตรวจวินิจฉัยง่ายขึ้นได้ โดยก่อนที่จะไปพบจักษุแพทย์ ให้เราสังเกตอาการของตนเอง เช่น ช่วงเวลาไหนที่อาการตาล้าดีขึ้น – แย่ลง หรือการทำกิจกรรมอะไรที่ทำแล้วส่งผลให้อาการตาล้าดีขึ้น – แย่ลง แล้วจดบันทึกไว้ จากนั้นเมื่อจักษุแพทย์ทำการซักประวัติ ให้เราแจ้งอาการเหล่านี้ให้ครบถ้วน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจวินิจฉัยและการหาวิธีรักษาอย่างมาก

    ภายหลังจากการซักประวัติแล้ว ก็จะมีการตรวจหาค่าสายตาที่เรามีในปัจจุบัน ตรวจการมองเห็นว่าสามารถมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจสุขภาพตาเพื่อหาว่ามีโรคทางตาหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ ทั้งนี้ จักษุแพทย์อาจมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น ขึ้นอยู่กับปัญหาของคนไข้แต่ละคน

    วิธีรักษาภาวะตาล้า

    วิธีรักษาและแก้ไขภาวะตาล้าสามารถทำได้โดยการแก้ไขที่สาเหตุและการบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการลดเวลาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาหรืออยู่กับหน้าจอให้น้อยลง เพื่อให้ดวงตาไม่ต้องทำงานหนักมากจนเกินไป การไม่ฝืนทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อตาล้าจากการฝืนเพ่ง รวมถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ก็จะช่วยคลายความเหนื่อยล้าลงได้

    หากเป็นวิธีแก้อาการตาล้าโดยการบรรเทาอาการต่าง ๆ ก็สามารถทำได้โดยการหยอดน้ำตาเทียมเพื่อแก้อาการตาแห้งหรือระคายเคืองตา ประคบเย็นสลับกับประคบอุ่นเพื่อลดอาการปวดตาและผ่อนคลายกล้ามเนื้อตาที่ตึงเครียด พักสายตาตามกฎ 20 – 20 -20 (ทุก ๆ 20 นาที ให้มองออกไปไกล 20 ฟุต เป็นระยะเวลา 20 วินาที) ก็จะช่วยให้รู้สึกสบายตามากขึ้น

    ทั้งนี้ หากทำตามวิธีการข้างต้นแล้วรู้สึกว่าภาวะตาล้าไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกว่ามีอาการแย่ลง แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งจักษุแพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาหยอดตาเพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ช่วยในแก้อาการตาล้าสำหรับผู้ที่กล้ามเนื้อตามีการเกร็งตัวมาก ๆ หรือหากจักษุแพทย์ตรวจวัดค่าสายตาแล้วพบว่าค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไป ก็จะแนะนำให้ตัดแว่นสายตาใหม่ รวมถึงหากตรวจพบโรคตาหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็จะทำการรักษาไปตามสาเหตุที่เป็น

    การป้องกันไม่ให้ตาล้า

    วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตาล้ามีดังนี้ 

    • จำกัดหรือลดเวลาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
    • หมั่นพักสายตาเป็นระยะตามกฎ 20 – 20 – 20
    • กะพริบตาบ่อย ๆ โดยอาจใช้วิธีการเขียนโน้ตแปะเตือนไว้ที่โต๊ะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาแห้ง
    • หยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา
    • หากเป็นผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ควรใส่แว่นที่มีเลนส์กรองแสงสีฟ้า
    • จัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการเรียนหรือในการทำงานให้เหมาะสม เช่น อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ แต่ไม่มีแสงจ้าจนเกินไป หรือไม่มีแสงส่องเข้ามายังดวงตาโดยตรง ไม่เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้เป่าลมเข้ามาโดนดวงตา ปรับแสงสว่างและทิศทางของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากดวงตาประมาณ 20 -26 นิ้ว
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการตาล้า เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี อะโวคาโด ผักใบเขียว แครอท อัลมอนด์ ไข่ ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 

    FAQ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตาล้า

    ตาล้า อันตรายไหม

    อาการตาล้าไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

    ตาล้า รับประทานอะไรบำรุงดวงตา

    ผู้ที่มีภาวะตาล้าสามารถรับประทานอาหารที่มีสารซึ่งเป็นประโยชน์ต่อดวงตา ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินเอ (Vitamin A) อาหารที่มีวิตามินซี (Vitamin C) อาหารที่มีวิตามินอี (Vitamin E) อาหารที่มีลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) รวมถึงอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) 

    สรุปภาวะตาล้า

    ภาวะตาล้า เกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ทั้งนี้ อาการตาล้าไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนถึงโรคตาหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ภาวะตาล้ายังสามารถแก้ไขและป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง แต่หากรู้สึกว่าอาการตาล้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    เอกสารอ้างอิง

    Sonnia Kelley. (2021, October 6). Asthenopia: Causes, symptoms and treatment. All About Vision. 
    https://www.allaboutvision.com/conditions/asthenopia/