กระจกตา เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของดวงตา และการมองเห็น หากใครที่มีปัญหากระจกตาบาง อาจส่งผลกระทบต่อสายตาของเราได้ รวมถึงปัญหากระจกตาบาง ยังเป็นหนึ่งในข้อจำกัดการทำเลสิกอีกด้วย มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการของกระจกตาบางในบทความนี้
กระจกตา คืออะไร
กระจกตาเป็นส่วนชั้นนอกสุดของดวงตา มีลักษณะใส ไม่มีสี รูปร่างโค้ง ทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ภายนอก และมีหน้าที่ในการหักเหแสงเข้าสู่ดวงตาของเรา จึงเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการมองเห็น โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 0.5-0.6 มิลลิเมตร หรือ 500-600 ไมครอน หากใครที่วัดความหนาของกระจกตาแล้วได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว ถือว่า เป็นภาวะกระจกตาบาง
ทำความรู้จักภาวะกระจกตาบาง
กระจกตาบาง คือ กระจกตาที่มีความหนาน้อยกว่า 500 ไมครอนหรือ 0.5 มิลลิเมตร โดยทั่วไปกระจกตาบาง ไม่ใช่โรค ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่กระจกตาบางส่งผลต่อการประเมิณโรคบางประเภท เช่นต้อหิน ทำให้วัดความดันตาได้ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงส่งผลต่อการพิจารณาเลือกวิธีการแก้ไขสายตา เช่นต้องเลือกทำ PRK หรือใส่ ICL แทนการทำ LASIK
ก่อนพิจารณาทำเลสิก ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินก่อนการผ่าตัดอย่างละเอียด เนื่องจากถ้ามีการเจียรเนื้อกระจกตา จนเหลือความหนากระจกตาน้อยกว่าเกณฑ์ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพตาได้ เช่น เกิดสายตาเอียงมากผิดปกติ มีภาวะกระจกตาย้วย ที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
เพราะสาเหตุใด กระจกตาบาง จึงทำให้หนาขึ้นไม่ได้
หลายคนอาจสงสัยว่า ปัญหากระจกตาบาง แก้ไขได้ไหม ? มีวิธีเพิ่มความหนากระจกตาหรือไม่ ? ความหนาของกระจกตา ไม่สามารถเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติจากโครงสร้างในชั้นกระจกตา และในกรณีที่กระจกตาบางจากการทำเลสิก เมื่อเจียรเนื้อกระจกตาแล้ว จะไม่สามารถทำให้กระจกตากลับมาหนาเช่นเดิมได้
อาการของกระจกตาบาง
อาการกระจกตาบางเป็นอย่างไร ? ผู้ที่มีกระจกตาบางหรือความหนาของกระจกตาต่ำกว่า 500 ไมครอน สามารถประสบกับอาการผิดปกติทางตาได้ ดังต่อไปนี้
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
- ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย
- ค่าสายตาเอียงสูงผิดปกติ
- มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
สาเหตุของกระจกตาบาง
กระจกตาบาง เกิดจากสาเหตุใด ? สาเหตุที่ทำให้กระจกตาบาง สามารถเกิดได้จากการขยี้ตา นวดตาบ่อยๆ หรือพบแต่กำเนิดในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง อาจส่งผลให้เกิดกระจกตาบางได้ หรือเกิดขึ้นหลังทำเลสิกมีการเจียรกระจกตาให้บางลงเหลือต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคกระจกตาย้วย (Keratoconus) ตามมาได้
นอกจากนี้ การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่มีคุณภาพสามารถทำให้ กระจกตาบางลงได้เช่นกัน หากใส่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาบาง
การตรวจวินิจฉัยกระจกตาบาง สามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดความหนาของกระจกตา โดยมีเครื่องที่เรียกว่า Pachymetry และใช้เครื่องมือชื่อ Corneal tomography สำหรับตรวจประเมิณความโค้งกระจกตาโดยเฉพาะ ใช้เพื่อบ่งบอกความผิดปกติของความโค้งกระจกตาจากการที่มีกระจกตาบาง
กระจกตาบาง กับปัญหาค่าสายตา
กระจกตาบางทำเลสิคไม่ได้ จริงเหรอ ? ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเลือกวิธีรักษาปัญหาสายตา คือ ความหนาของกระจกตา เนื่องจากในกรณีคนที่มีกระจกตาบางมาก จักษุแพทย์อาจไม่แนะนำให้รักษาปัญหาสายตาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ เช่น LASIK, ReLEx SMILE Pro และอื่น ๆ แต่อาจแนะนำวิธีทางเลือกอื่น ๆ แทน เช่น การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)
ข้อสรุปของกระจกตาบาง
กระจกตาบางหรือกระจกตาที่มีความหนาน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร เกิดได้จากทางพันธุกรรมหรือมีโรคตาอย่างกระจกตาย้วย โดยภาวะกระจกตาบาง ยังเป็นข้อจำกัดในการทำเลสิก ทั้งนี้ ใครที่มีปัญหากระจกตาบาง และต้องการรักษาปัญหาสายตาอย่างสายตาสั้น ยาว เอียง แพทย์อาจแนะนำวิธีทางเลือกอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) แทนการรักษาด้วยเลเซอร์
เอกสารอ้างอิง
Thin Corneas : Alternative to LASIK | EVO ICL. (n.d.). EVO ICL.
https://us.discovericl.com/blog/help-for-thin-corneas