‘วัดสายตา’ วิธีตรวจเช็กปัญหาค่าสายตาหรืออาการผิดปกติทางตา

เมื่อสังเกตถึงความผิดปกติในการมองเห็น เช่น สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาสายตาหรือโรคตาอื่น ๆ ที่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา และการมองเห็น การวัดสายตา และการตรวจสุขภาพตา จึงเป็นวิธีที่จะช่วยไขข้อสงสัยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรับการดูแลรักษาในทันที

สารบัญบทความ

    การตรวจวัดสายตา คืออะไร

    การวัดสายตา คือ การวัดความสามารถในการมองเห็น เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพตาที่สามารถวินิจฉัยถึงความผิดปกติหรือโรคตาที่อาจเกิดขึ้น โดยการวัดสายตาได้แก่ การตรวจระยะการมองเห็น การวัดค่าสายตา และอื่น ๆ เป็นต้น

    จุดประสงค์ในการวัดสายตา

    จุดประสงค์ของการวัดสายตามีอะไรบ้าง ? 

    • เพื่อระบุได้ว่า สาเหตุของปัญหาการมองเห็นไม่ชัดหรือปัญหาอื่น ๆ เกิดจากการมีปัญหาค่าสายตาสั้น หรือยาวหรือสายตาเอียง
    • เพื่อนำผลค่าวัดสายตาที่ได้ ไปประกอบการเลือกซื้อคอนแทคเลนส์หรือตัดแว่นสายตา รวมถึงการทำเลสิก
    • เพื่อตรวจเช็กค่าสายตาว่า มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 
    • เพื่อนำผลค่าวัดสายตาไปใช้ในการสมัครงานหรือทำใบขับขี่

    ทำความรู้จักค่าสายตา

    ค่าวัดสายตา คือ อะไร

    ค่าสายตา คือ ข้อมูลตัวเลขที่แสดงถึงความสามารถในการมองเห็น โดยสามารถระบุได้ว่า มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาวหรือสายตาเอียง โดยแต่ละปัญหาสายตาจะมีภาพการมองเห็นที่แตกต่างกัน โดยหน่วยที่ใช้เรียกค่าสายตา เรียกว่า ไดออปเตอร์ (Diopter) 

    ค่าสายตาสั้น

    ค่าสายตาสั้นหรือวัดสายตาแล้ว ได้ผลค่าสายตาที่มีเครื่องหมายลบ (-) นำหน้าตัวเลขวัดสายตา บ่งบอกถึงผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นหรือผู้ที่มีการมองเห็นในระยะใกล้ชัด แต่มองเห็นในระยะไกลไม่ชัด เกิดจากกระจกตาที่มีความโค้งมากเกินไป มีขนาดลูกตาที่ยาวเกินไป รวมถึงพฤติกรรมการใช้สายตาก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มีค่าสายตาสั้น

    ค่าสายตายาว

    ค่าสายตายาวหรือวัดค่าสายตาแล้ว ได้ผลค่าสายตาที่มีเครื่องหมายบวก (+) นำหน้า บ่งบอกถึงผู้ที่มีปัญหาสายตายาวหรือผู้ที่มองเห็นในระยะไกลชัดกว่าระยะใกล้ เกิดจากกระจกตาที่แบน และขนาดลูกตาที่สั้นเกินไป ทำให้การหักเหแสงลดน้อยลง แต่สายตายาวตามอายุเกิดจากเลนส์ตาที่แข็งขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง และกล้ามเนื้อตาเสื่อมสภาพ ทำให้ความสามารถในการเพ่งมองวัตถุในระยะใกล้แย่ลง

    ค่าสายตาเอียง

    ค่าสายตาเอียงหรือค่าที่ปรากฏอยู่หลังค่าสายตาสั้นหรือยาวบนใบผลตรวจ โดยจะมีค่าที่บอกองศาการเอียงกำกับอยู่ด้วย เกิดจากรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ ทำให้มีตำแหน่งโฟกัสมากกว่าหนึ่งจุด เห็นภาพเบลอหรือเป็นเงาซ้อน มักเกิดร่วมกับปัญหาสายตาสั้น และสายตายาว

    ใครบ้างที่ควรตรวจวัดสายตา

    ผู้ที่ควรเข้ารับการวัดสายตา ได้แก่

    • ผู้ที่สังเกตว่า สายตามีการเปลี่ยนแปลง เช่น รู้สึกมองเห็นไม่ชัดหรือเริ่มมีพฤติกรรมเพ่ง หรี่ตามอง เพื่อให้ภาพชัดขึ้น
    • ผู้ที่ไม่เคยรับการตรวจวัดสายตามาก่อนหรือไม่ได้วัดสายตานานกว่า 1 ปี
    • ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางตาอื่น ๆ 

    วิธีวัดสายตา มีอะไรบ้าง

    การวัดค่าสายตามีอะไรบ้าง

    วิธีวัดสายตา เพื่อตรวจดูปัญหาสายตา และอาการผิดปกติอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ?

    การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test)

    การวัดสายตาหรือการวัดระยะการมองเห็น (Visual Acuity) คือ การวัดความสามารถในการมองเห็นทั้งในระยะใกล้ และระยะไกลว่า สามารถมองเห็นได้ชัดแค่ไหน โดยใช้แผนภูมิที่เรียกว่า Snellen Chart ในการวัดสายตา ซึ่งเป็นแผนภูมิที่มีตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงเป็นแถว และไล่ขนาดจากใหญ่ไปเล็กอย่างที่หลายคนอาจเคยเห็นเวลาไปตัดแว่น 

    การวัดค่าสายตา (Refraction)

    การวัดค่าสายตา (Refraction test) คือ การตรวจวัดสายตาที่ผิดปกติ เช่น ภาวะสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง เพื่อนำไปตัดแว่นสายตา และซื้อคอนแทคเลนส์ โดยวัดค่าสายตาเบื้องต้นด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ เรียกว่า autorefraction หรือวัดสายตาด้วยการนั่งอ่านแผนภูมิตัวเลขหรือตัวอักษร มองผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Phoropter

    ขั้นตอนการวัดสายตาแต่ละวิธี

    วิธีตรวจสายตาแต่ละวิธีมีขั้นตอนการวัดสายตาที่แตกต่างกันไป 

    • วัดสายตาระยะการมองเห็น  (Visual Acuity) โดยการนั่งอยู่ในระยะห่างจากแผนภูมิประมาณ 6 เมตร และปิดตา 1 ข้าง เพื่ออ่านตัวอักษรบนแผนภูมิ Snellen Chart เมื่ออ่านเรียบร้อยแล้ว จึงทำสลับกับดวงตาอีกหนึ่งข้าง โดยในระหว่างการอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรบนแผนภูมิ แพทย์จะให้อ่านจากตัวหนังสือที่ใหญ่ไปถึงตัวที่เล็กลงเรื่อย ๆ
    • วัดค่าสายตา (Refraction test) โดยการนั่งอ่านแผนภูมิตัวเลขหรือตัวอักษรผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Phoropter โดยจักษุแพทย์จะคอยเปลี่ยนเลนส์ที่เครื่อง Phoropter เพื่อให้การมองเห็นของเรามีความชัดใกล้เคียงกับค่าสายตาปกติ พร้อมกับถามว่า เรามองเห็นตัวหนังสือบนแผนภูมิชัดขึ้นหรือไม่ หากเราสามารถเห็นตัวหนังสือบนแผนภูมิชัดเจนแล้ว จึงจะได้ค่าสายตาเป็นตัวเลข

    นอกเหนือจากการตรวจความสามารถในการมองเห็นระยะใกล้ ไกล และการวัดค่าสายตา เพื่อตรวจหาภาวะสายตาสั้น ยาว เอียงเบื้องต้นแล้ว ยังมีการตรวจสุขภาพตาที่สามารถวินิจฉัยบ่งบอกถึงความผิดปกติในการมองเห็นหรือโรคตาอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น วัดลานสายตา วัดการมองเห็นสี วัดการทำงานของม่านตา และอื่น ๆ 

    • วัดการมองเห็นสี คือ การตรวจวัดความสามารถในการแยกแยะสี โดยส่วนใหญ่แล้ว มักตรวจความผิดปกติเบื้องต้นด้วยการใช้แบบทดสอบอิชิฮะระ สามารถคัดกรองความผิดปกติได้ในกลุ่มผู้ที่มีอาการตาบอดสี
    • วัดการทำงานของม่านตา แพทย์จะทำการส่องไฟเข้าไปในดวงตา เพื่อดูการหดตัวของม่านตา  หากม่านตาไม่มีการตอบสนอง สามารถบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติในการทำงาน

    การเตรียมตัวก่อนตรวจวัดสายตา

    การเตรียมตัวก่อนวัดสายตานับว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากหากเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าวัดสายตาหรือตรวจสุขภาพตา สามารถป้องกันผลที่คลาดเคลื่อนได้ 

    • หลีกเลี่ยงการวัดค่าสายตาในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่าสายตาไม่คงที่
    • งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการวัดสายตาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
    • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันตรวจ
    • แจ้งโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบ
    • ควรมีผู้ติดตามมาดูแลด้วย 1 คน เนื่องจากการตรวจตาบางวิธี อาจทำให้การมองเห็นพร่ามัวชั่วคราว เช่น การขยายรูม่านตา
    • งดการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอย่างน้อย 3 วัน และคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง 
    • กรณีที่มีแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่แล้ว ควรนำมาในวันตรวจวัดสายตาด้วย

    การตรวจวัดสายตาด้วยตนเองเบื้องต้น

    การวัดสายตาเบื้องต้นหรือวิธีตรวจวัดสายตาด้วยตัวเอง สามารถทำได้ด้วยการใช้แบบทดสอบสายตาที่เรียกว่า Snellen Chart หรือ chart วัดสายตาที่มีตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงจากขนาดใหญ่ไปเล็ก และมีตัวเลขกำกับด้านข้าง โดยผู้เข้าทำการทดสอบ ต้องยืนห่างจากแผนภูมิในระยะ 20 ฟุต (6 เมตร) และอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขที่ปรากฏอยู่

    แผนภูมิวัดสายตา

    ผลวัดสายตาของการวัดระยะการมองเห็น (visual acuity) จึงอยู่ในรูปของ 20/20 โดย 20 ตัวหน้า หมายถึง ระยะห่าง 20 ฟุต ระหว่างแผนภูมิ กับตัวผู้ทำการทดสอบ ส่วน 20 ตัวหลัง หมายถึงระยะห่างที่คนสายตาปกติสามารถอ่านได้

    หากทำการวัดสายตาหรือระยะการมองเห็นแล้วได้ผล 20/20 ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ค่าสายตาที่ปกติ แต่ในกรณีที่ผลออกมาแล้ว 20 ตัวหลังมากกว่า 20 ตัวหน้า เช่น 20/40 สามารถแปลผลได้ว่า ตัวเรามีสายตาที่ผิดปกติหรือแย่กว่าปกตินั่นเอง

    โดยการรักษาปัญหาสายตาที่ผิดปกติ สามารถรักษาได้ด้วยการสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ รวมถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การทำเลสิก, Femto LASIK, ReLEx  และอื่น ๆ

    ข้อสรุปการวัดสายตา

    การวัดสายตา และการตรวจดวงตา สามารถวินิจฉัย และประเมินความสามารถในการมองเห็น รวมถึงอาการผิดปกติของดวงตาเราได้ หากสังเกตถึงความผิดปกติของสายตา และการมองเห็น ควรเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียด และเข้ารับการดูแลรักษาทันที เนื่องจากความผิดปกติเพียงเล็กน้อย อาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็นในระยะยาว

    เอกสารอ้างอิง 

    Janelle Martel. Refraction Test. (2018, July 3). healthline.
    https://www.healthline.com/health/refraction-test 

    Michael Harkin. Visual Acuity Test. (2018, September 29). healthline. https://www.healthline.com/health/visual-acuity-test